
เงินดิจิทัล 10,000 บาทเลื่อนแจกยาว ส่อต้องเริ่มปลายปีงบประมาณ 2567 “ที่ปรึกษานายกฯ” ส่งสัญญาณรอจัดสรรงบฯรายจ่ายควบ 2 ปี “2567-2568” ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แทนตั้ง “งบฯผูกพัน” 4 ปี ที่อาจผิด พ.ร.บ.เงินตรา คาดแจกผ่านแอป “เป๋าตัง” เสี่ยงน้อยสุด ขณะที่ “นายกฯเศรษฐา” เลี่ยงตอบคำถาม
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน อยู่ระหว่างนัดประชุมภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเคาะข้อสรุปโครงการ หลังจากที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ได้สรุปแนวทางดำเนินการเสนอเป็น option ต่าง ๆ ให้คณะกรรมการนโยบายตัดสินใจ
“ตอนนี้มีหลายประเด็นที่ต้องรอบอร์ดใหญ่เคาะ ทั้งเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ว่าถ้าจะตัดคนที่มีรายได้สูง ที่หากได้เงินนี้ไปแล้ว ไม่ได้นำไปใช้จ่ายที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะตัดตรงไหน แล้วก็เรื่องแหล่งที่มาของเงิน เพราะใช้เงินของธนาคารออมสินไม่ได้แน่นอนแล้ว แต่แนวทางที่จะตั้งงบประมาณผูกพัน 4 ปี ก็อาจจะทำไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว
หวั่นผิด พ.ร.บ.เงินตรา
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า “ตอนนี้รัฐบาลคงไม่ใช้แนวทางยืมเงินธนาคารออมสิน รวมถึงน่าจะไม่ใช้แนวทางการตั้งงบฯผูกพันข้ามปี เป็นเวลา 4 ปีแล้วเช่นกัน เพราะปกติการผูกพันงบประมาณข้ามปีนั้น โครงการที่ผูกพันจะต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่กรณีนี้เป็นโครงการแจกเงินไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเป็นหลัก จึงอาจจะทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าต้องเติมเงินให้ประชาชนก้อนแรกทันที ซึ่งอาจจะใช้เงินกว่า 4 แสนล้านบาท แต่จะไปตั้งงบฯผูกพันทยอยปีละ 1 แสนล้านบาท ก็อาจถูกมองเป็นการ ‘เสกเงิน’ ซึ่งจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติเงินตราได้”
ออมสินแจงยังไม่ได้รับคำสั่ง
นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารออมสินมีการออกประกาศแจ้งพนักงานทุกสาขาให้ทราบว่า “ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยระบุว่า รัฐบาลจะสั่งการโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 ให้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งจ่ายเงินของโครงการไปก่อน และรัฐบาลจะชำระคืนให้ภายหลังนั้น
ธนาคารขอเรียนให้พนักงานทุกท่านทราบว่า ข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยรัฐบาลยังไม่เคยมีคำสั่งการดังกล่าว อีกทั้งธนาคารออมสินไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ รวมทั้งขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ ซึ่งกำหนดตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ที่จะสามารถดำเนินการโครงการนี้ด้วยมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแต่อย่างใด
อนึ่ง ธนาคารออมสินเป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง จึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะสนับสนุนภารกิจและการดำเนินการตามคำสั่งการของรัฐบาล ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมาย”
แย้มตั้งงบฯปี’67-68 แจก ก.ย.
ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงินก็มีอยู่ 2-3 จุด ก็คือ 1.กู้เงิน แต่ก็มีจุดอ่อนก็คือ ตอนนี้ยังไม่รู้วงเงินที่แน่นอน 2.ใช้เงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ดี การเติมเงินดิจิทัลจะต้องมีเงินบาทแบ็กอัพ ขณะที่กฎหมายธนาคารออมสินไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้ชัดเจน
“หลาย ๆ อย่างจะมีการปรับเปลี่ยน ผมพอจะบอกกรอบคร่าว ๆ ได้ เช่น เรื่อง 56 ล้านคน ตอนนี้ดูแล้ว หลายคอมเมนต์บอกว่าไม่ควรแจกคนรวย ซึ่งเรามาดูแล้วว่าการกระตุ้นนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคอย่างเดียว แล้วดูจากที่ผ่านมา แจกทีละ 1,000 บาท กระตุ้นไม่ได้ผล จีดีพีปีนี้ก็อาจจะโตไม่ถึง 3% ดังนั้นวันนี้เขาก็ตัดสินใจแล้วว่า ถ้าใช้มาตรา 28 ออมสินอย่างเดียว ไซซ์จะใหญ่ไป และอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุว่าให้ทำได้ ในที่สุดก็กลับไป เข้าตรง ๆ คือเข้าระบบงบประมาณ”
อย่างไรก็ดี การใช้งบประมาณก็ยังมีปัญหา หากจะใช้ 5 แสนล้านบาท โดยกันงบประมาณแล้วทยอยจ่ายเป็นปี ๆ ไป หรือตั้งเป็นงบฯผูกพัน แต่สุดท้ายก็ดูแล้วทำไม่ได้ เพราะต้องมีเงินแบ็กอัพตลอดเวลา แปลว่าไม่สามารถตั้งงบฯผูกพันได้ ดังนั้นก็กลับไปใช้งบประมาณประจำปีตามปกติ
“บังเอิญงบประมาณปี 2567 ล่าช้า จะเสร็จก็น่าจะประมาณ เม.ย. 2567 เป็นอย่างเร็ว ดังนั้นที่ประกาศไว้ว่าจะทำเดือน ก.พ. เป็นไปไม่ได้ เพราะงบฯไม่เสร็จ ฉะนั้นก็ต้องหลัง เม.ย. แล้วก็ต้องใช้ให้ได้ภายใน ก.ย. 2567 ด้วย แต่ผมเชื่้อว่างบฯปี 2568 ก็ต้องทำแล้ว ไม่น่าจะมีเหตุผลที่จะล่าช้า การวางแผนงบฯปี 2568 ก็ควรต่อเนื่อง และแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้นอันนี้ก็เดินตาม นโยบายนี้ที่นักวิชาการอยากให้ทำเป็นเฟสซิ่ง ผมว่าอันนี้ก็ควรทำเป็นเฟสซิ่งแล้ว อาจจะปีละแสนกว่าล้าน แต่อยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ สร้างอิมแพ็กต์ครั้งเดียว”
ขยายรัศมีใช้จ่ายเป็น “อำเภอ”
นายพิชัยกล่าวด้วยว่า ในด้านรัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต ก็จะขยายจากรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นระดับอำเภอ โดยยึดตามที่ระบุไว้ตามบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตการกระจายเงินให้มีความทั่วถึงและมีอิมแพ็กต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ผมซาวเสียงจากแบงก์ดู จากการที่ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปกว่า 2% ผมว่าการปล่อยสินเชื่อปีหน้าจะยาก ถ้าไม่ทำอะไร ผมว่าจีดีพีก็จะหด ที่ตั้งไว้ 4% กว่าก็จะไม่ได้ ปีนี้ก็พิสูจน์อีกปีแล้วว่าไม่ถึง ฉะนั้นถ้าจะทำแบบเดิม ๆ แล้วบอกว่าจะทำตรงนั้นนิด ตรงนั้นหน่อย ผมว่าไม่ใช่ เพราะเลยจุดที่เราจะทำอะไรที่ไม่เป็นการกระตุก คงไม่ได้”
นายพิชัยกล่าวว่า หากโครงการเริ่มเดือน ก.ย. 2567 จะมีเวลาทำงาน ทำรายละเอียดโครงการให้ชัดเจน เพื่อออกแบบให้เกิดการหมุนของเงินในระบบ ซึ่งผลวิจัยระบุว่า จะกระตุ้นได้ 0.4-0.5%
“แน่นอนว่า คนรวยได้ไป จะเกิดการเก็บเงิน แต่ถ้าเราตัดคนรวยออก อันนี้กำลังหารือกัน แต่ผมเห็นว่า จาก 50 กว่าล้านคน จะเหลือแค่ 40 กว่าล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เขาก็กำลังดูว่า น่าจะมีเท่าไหร่ที่อาจจะไม่มาลงทะเบียน”
ใช้แอป “เป๋าตัง” เสี่ยงน้อยสุด
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การจะทำระบบขึ้นใหม่ คงไม่มีทางจะเริ่มได้ทัน โดยเฉพาะที่กำหนดไว้เดือน ก.พ. 2567 จะยิ่งมีความเสี่ยง ดังนั้น ตนมั่นใจว่า 90% น่าจะใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง แค่เพิ่มจำนวนคนเข้าไป
นายกฯปัดตอบ
ด้านนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ไม่ตอบคำถาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการขยายเวลาการเริ่มจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท จากเดือน ก.พ. 2567 เป็นเดือน ก.ย. 2567 ตามที่นายพิชัยออกมาพูดจริงหรือไม่
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นที่นายพิชัยออกมาพูด ไม่ได้เป็นการโยนหินถามทาง แต่ตนคิดว่าขณะนี้เรื่องดิจิทัลวอลเลตเป็นเรื่องที่คนสนใจมาก เมื่อมีความสนใจมาก ผู้คนจึงมีการแสดงความเห็น แต่หน้าที่เราไม่ใช่รีบไปเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หน้าที่เรายึดวัตถุประสงค์ที่เราคิดตั้งแต่ต้น แต่ความไม่สบายใจทั้งหมดก็จะรับทั้งหมดมาดู และทบทวนอีกครั้ง
“ขณะนี้ไม่มีความคิดไหนที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง 100% ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้น รอนายกฯและผู้เกี่ยวข้องแถลงอย่างชัดเจน”
ส่วนกรณีที่ลดจำนวนคนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลอะไรก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องอธิบายประชาชนได้ แต่หัวใจหลักตัดสินใจอยู่ที่วัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้น 6 เดือน และโครงการนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะสถานการณ์ตลาดโลก ภาวะสงคราม ก็จะเป็นภาวะทับซ้อน ทำให้ยากที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้
“ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่มีอะไรที่คิดได้สมบูรณ์ทั้งหมด มีสิ่งที่บวก มีสิ่งที่ลบ การรับฟังสิ่งที่ลบ กับสิ่งที่เราคิด กับสิ่งที่บวก แล้วมาชั่งน้ำหนัก ถ้าจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องมีเหตุผลในการอธิบาย” นายภูมิธรรมกล่าว
3 ทีมเคลื่อนคนละทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขณะนี้ยังไม่สามารถนัดประชุมบอร์ดชุดใหญ่ที่มี นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานได้ และเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะมีรายละเอียดที่ติดขัดข้อกฎหมายในการหาที่มาของงบประมาณ และการออกแบบแอปพลิเคชั่นในการใช้งาน มีผลต่อการประกาศวันเริ่มแจกเงิน และระยะเวลาที่จะมีการขึ้นเงินสด
“ตอนนี้ข้อมูลในการเคลื่อนโครงการมี 3 ทาง ทางหนึ่งมาจากทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่เป็นตัวแทนอำนาจจากพรรคเพื่อไทย ที่ให้ข้อมูลข้ามชอต ทั้งเรื่องที่มาของเงินและระยะเวลาการแจก และฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ไม่สามารถหาโซลูชั่นในการจัดหางบประมาณ และผลที่ชัดเจนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ กับทีมของนายกรัฐมนตรีเอง ที่ต้องรอฟังความเห็นจากทั้ง 2 ฝ่าย”