
คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
หลายคนอาจมองว่าธุรกิจขนาดใหญ่มักมีอำนาจเหนือกว่าธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากมีทรัพยากรและศักยภาพที่เหนือกว่า เช่น เงินทุน เทคโนโลยี บุคลากร และเครือข่ายธุรกิจ ที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเติบโตและขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน การแข่งขันทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในธุรกิจอาจไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือทรัพยากรอีกต่อไป แต่เป็นความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งจากคำกล่าวที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” อาจต้องเปลี่ยนเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไปแล้ว
ดังนั้น หากธุรกิจขนาดเล็กที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้จนสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
โดย SMEs เองกลับมีข้อได้เปรียบเหนือธุรกิจขนาดใหญ่อยู่หลายประการ เช่น ความยืดหยุ่นของธุรกิจ SMEs ที่สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SMEs มักมีความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อีกทั้งมีอิสระในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
ซึ่งจากข้อได้เปรียบที่กล่าวมา SMEs สามารถนำมาสร้างกลยุทธ์ในการทำธุรกิจสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ดังนี้
1.เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน SMEs ควรเลือกเจาะจงตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เพื่อที่จะเข้าใจความต้องการของลูกค้ากลุ่มนั้นอย่างลึกซึ้ง
2.นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มากกว่า โดยปรับปรุงปรับเปลี่ยนและให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
3.ใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดกับลูกค้าโดยตรง หมั่นทำการสำรวจความพึงพอใจและความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ ผ่านการพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง การวิจัยตลาด การใช้โซเชียลมีเดีย การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถรักษาฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
4.สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยเข้าร่วมกิจกรรมเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันทรัพยากรและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ความร่วมมือด้านการตลาด ความร่วมมือด้านการผลิต ความร่วมมือด้านการจัดจำหน่าย
ทั้งนี้ SMEs สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โดยอาศัยแนวทางต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม SMEs ควรศึกษา เรียนรู้ ปรับตัว ติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ อีกทั้ง SMEs ต้องไม่ละเลยในการสร้างแบรนด์ ซึ่งการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นดั่งภูมิคุ้มกันธุรกิจในทุกระดับให้สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
รวมถึงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดีย การใช้อีคอมเมิร์ซ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
นอกจากนี้ SMEs ยังสามารถขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐหรือองค์กร หน่วยงานในด้านต่าง ๆ เช่น การให้ความรู้และฝึกอบรม สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดและโอกาสธุรกิจ เป็นต้น