ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับภายใน 1 ม.ค. 67 ฝั่งนายจ้าง SMEs หนุนให้ขึ้นตามเศรษฐกิจ

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้าพบ รมว.แรงงาน

เอสเอ็มอี หนุน “พิพัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขึ้นค่าแรงตามระบบเศรษฐกิจและชวนผู้ประกอบการ up-skill แรงงานเพื่อได้รายได้เพิ่ม

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแนะนำสมาพันธ์ ขับเคลื่อนความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และรับทราบแนวทางนโยบายด้านแรงงาน โดยนายพิพัฒน์มีการกล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าปรับขึ้นแน่นอนภายใน 1 มกราคม 2567 ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์อธิบายว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นเป็นรายจังหวัด ซึ่งไม่ได้เท่ากันทั้งหมด โดยอิงตามโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสมาพันธ์ก็ไม่ขัดข้อง ส่วนการพัฒนาผลิตบุคลากรและแรงงานของเอสเอ็มอีจะยกระดับทักษะแรงงานและสร้างทักษะแรงงานโดยการ up-skill และ re-skill ให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับแต่ละภูมิภาค และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ยังขาดแรงงานอยู่นั้น โดยในส่วนนี้จะได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมต่อไป

นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวมกว่า 3.2 ล้านราย จ้างงานรวมกว่า 18 ล้านราย ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ที่เปิดโอกาสให้เข้าพบหารือและรับทราบนโยบายด้านแรงงาน

โดยสมาพันธ์เป็นองค์กรเครือข่ายนักธุรกิจจิตอาสาเอสเอ็มอีที่มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาเอสเอ็มอีของประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกจังหวัดทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสมาพันธ์ เพื่อให้เกิดการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี

Advertisment

“จากการรับทราบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพร้อมสนับสนุนนโยบายดังกล่าวที่จะปรับขึ้นค่าจ้างตามโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจะประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมในครั้งนี้ด้วย” นายแสงชัยกล่าว

ย้อนรอยการปรับค่าจ้างของรัฐบาล

ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มล่าสุด มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565 โดยการปรับขึ้นแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

Advertisment

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

และย้อนไปก่อนหน้านั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2563 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313 บาท, 315 บาท, 320 บาท, 323 บาท, 324 บาท, 325 บาท, 330 บาท, 331 บาท, 335 บาท และ 336 บาท