คลี่ 7 กลไกการให้ทุน NIA เท 300 ล้าน ปลดล็อก SMEs สตาร์ตอัพ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง, ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง, ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงินทุน” เป็นปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะกับสตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี จากการมีข้อจำกัดมากมายในการเข้าถึงแหล่งทุน ทำให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะองค์กรที่มีพันธกิจสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม ลุกขึ้นมาปรับกลไกการให้ทุนสนับสนุนใหม่ เพื่อปลดล็อกปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ และเพิ่มโอกาสในการผลักดันธุรกิจไทยให้แจ้งเกิด เติบโต เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

บทบาท NIA กับการให้ทุน

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า NIA มุ่งพัฒนาการสร้างนวัตกรรมใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.เกษตร อาหาร และสมุนไพร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า 4.ท่องเที่ยว และ 5.soft power ผ่านแผนปี 2567-2571 ใต้พันธกิจ สร้างและส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ สร้างโอกาสการเข้าถึง และใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม ยกระดับทักษะและขีดความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านกลไกการดูแล (groom), การให้ทุน (grant) และผลักดันให้เติบโต (growth)

สำหรับการให้ทุนในปีงบประมาณ 2567 มีกรอบวงเงินรวม 600 ล้านบาท แต่ได้รับมาแล้ว และจะใช้ในระยะแรก 300 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา NIA ให้ทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ และวิสาหกิจเพื่อสังคมมากมาย ทำให้เกิดแบรนด์ชื่อคุ้นหูโลดแล่นในโลกธุรกิจไม่น้อย เช่น น้ำเต้าหู้โทฟุซัง, แอปพลิเคชั่น QueQ, moreloop, บอทน้อย (Botnoi) เป็นต้น

ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม NIA เสริมว่า กลไกการให้ทุนเดิมเป็นแบบ matching fund ให้ทุนสมทบบางส่วน โฟกัสที่การพัฒนาไอเดียให้เป็นผลงานต้นแบบเป็นหลัก ทำให้หลายชิ้นไปไม่ถึงการเป็นธุรกิจจริง เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนในช่วงที่ผลิตภัณฑ์จะเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบคุณภาพตามมาตรฐานต่าง ๆ หรือการหาตลาดที่เหมาะสม จึงต้องปรับกลไก แก้ pain point เพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมที่สร้างรายได้ และผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs-innovation-based enterprise) หรือกลุ่มที่สร้างหรือนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น

ปรับใหม่แก้ Pain Point

“งานเราตั้งเป้าในปี 2570 ว่าต้องสร้างผู้ประกอบการ IBEs หมื่นราย มีธุรกิจที่อยู่ใน growth stage หรือทำเงินได้จริงพันราย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการให้ทุนแบบเดิมที่จบแค่การทำ prototype บรรลุเป้าหมายได้ยาก จึงขยับมาให้ทุนในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการแต่ละรายยังมีความต้องการแตกต่างกัน บางรายอาจต้องการแค่ช่วงทดสอบตลาด บางรายต้องการที่ปรึกษาเพื่อขยายตลาดต่างประเทศ การออกแบบกลไกการให้ทุนจึงเจาะตามความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น”

และว่า การที่ NIA ตัดสินใจปรับรูปแบบการให้ทุนมีปัจจัยมาจากเป้าหมายของหน่วยงานที่เป็นต้นทางของแหล่งเงินทุน อย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. ต้องการให้ NIA นำนวัตกรรมจากห้องทดลองมาพัฒนาเป็นธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รวมเข้ากับการให้ทุนรูปแบบเดิมทับซ้อนกับหลายหน่วยงาน และพบว่าการให้ทุนในช่วงที่กำลังเข้าตลาดมีน้อย จึงปรับโพซิชั่นมาให้ทุนในช่วงปลายน้ำมากขึ้น ซึ่งในแง่จำนวนเงินไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

ในปี 2567 NIA จะนำร่องใช้กลไกใหม่กับการดำเนินงานของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ หรือกลุ่มที่พัฒนาธุรกิจเพื่อหวังผลในเชิงรายได้ 100% ก่อน และในปี 2568 จะนำมาใช้เป็นกลไกการให้ทุนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือกลุ่มที่พัฒนาธุรกิจ และมีการคืนกำไรให้สังคมภายใต้งบประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นการให้ทุนในกลุ่มนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ 250 ล้านบาท และกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคม 50 ล้านบาท

ฉายภาพ 7 กลไกใหม่

มี 7 กลไก ดังนี้ 1.กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (regional market validation) ให้ทุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการหรือไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สำหรับการทดสอบตลาด ปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้ขยายผลในเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

2.กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (thematic innovation) ให้ทุนอุดหนุนไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมาย เป็นต้น

3.กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม สมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษา ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา บัญชี การเงิน เป็นต้น

4.กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง สมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษา การวิเคราะห์ทดสอบ การประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ หรือขอรับรองมาตรฐาน

5.กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรมให้ทุนทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการในหน่วยงานภาครัฐ และ 50% กับเอกชน หรือไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์

6.กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้ไม่เกิน 75% ของมูลค่าดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม หรือไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม

และ 7.กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาด โดยร่วมมือกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (corporate cofunding) กำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วน 50% ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกินสิบล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

เน้นเปิดกว้างและเติมเต็ม

ดร.กริชผกากล่าวว่า NIA ยังเปิดรับความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมต่อการลงทุน และเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจไทย หรือ venture capital (VC) ต่างประเทศที่สนใจลงทุนกับผู้ประกอบการไทย แต่ต้องผ่านการพิจารณาความเห็นชอบจาก NIA และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ก่อน

“เรายังไม่ได้ทิ้งการให้ทุนในรูปแบบเดิม แต่อาจมีน้อยลง และต้องมั่นใจว่าเป็นธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดได้ หรือถ้ามีผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพที่เข้าข่ายการรับเงินลงทุนรอบ seed เขียน proposal เข้ามาหา NIA ก็สามารถส่งต่อไปให้หน่วยงานที่ต้องการลงทุนในรอบ seed ได้ เป็นการเชื่อมอีโคซิสเต็มการลงทุนให้ไร้รอยต่อมากขึ้น”

ดร.สุรอรรถทิ้งท้ายด้วยว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายเลือกรับทุนได้ตามความต้องการของธุรกิจ เช่น ธุรกิจอาหารอาจต้องการทุนสำหรับทดสอบมาตรฐานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือถ้ามีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นก็อาจต้องการเพียงทุนสำหรับทดลองตลาดเท่านั้น ซึ่งจุดสำคัญคือ ต้องมีความเข้าใจก่อนว่าธุรกิจของตนยังขาดอะไร และมีเป้าหมายในอนาคตอย่างไร เพื่อรับการสนับสนุนได้อย่างตรงจุด

“เราเชื่อว่าเงินทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ธุรกิจเข้าสู่ตลาด และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ จึงมี NIA Academy ให้ความรู้ในการทำธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรม เติมเต็มในส่วนที่ยังขาด มีคนคอยให้คำปรึกษาและผลักดันให้ธุรกิจทำเงินได้จริง”