NIA เผย 7 กลไกมอบทุนรายเล็ก เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 3,000 ล้าน

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

“NIA” ตอกย้ำการเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” พัฒนา 7 กลไกมอบทุนหนุนเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม 3,000 ล้านบาท

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการเป็นผู้กำหนดทิศทาง (Focal Conductor) และอำนวยความสะดวกทางการเงินสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของสังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ได้แก่ 1.เกษตร อาหาร และสมุนไพร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า 4.การท่องเที่ยว และ 5.soft power ผ่านกลไกสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่และเชื่อมต่อกับพันธมิตรด้านการเงิน การลงทุน และตลาดนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

“ในปีนี้มีการปรับกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนไทยผ่านแพ็กเกจใหม่ โดยเพิ่มการพัฒนาด้านการตลาดมากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง ภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท

โดยตั้งเป้าว่าจะมีผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงในหลากหลายอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ เงินทุนสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมของ NIA นอกจากจะได้รับการจัดสรรจาก สำนักงบประมาณแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้มาจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในฐานะ Program Management Unit (PMU) ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการผลิตและสร้างต้นแบบนวัตกรรมเพื่อทดสอบหรือนำร่องเป็นหลัก

ด้าน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่ากลไกการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของ NIA ในช่วงที่ผ่านมา เอื้ออำนวยให้ผู้รับทุนมีความสามารถและศักยภาพพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเป็นหลัก (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการสนับสนุน 95% ของจำนวนโครงการทั้งหมด) โดยมีผู้รับทุนสนับสนุนในด้านการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ผู้รับทุนส่วนหนึ่งมักประสบปัญหาที่ไม่สามารถขยายผลโครงการระดับเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“NIA พัฒนากลไกการสนับสนุนในรูปแบบใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สำหรับกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่ จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพในการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ

สามารถสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขยายตลาดใหม่ และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และจะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของชุมชุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

โดย NIA ได้ออกแบบและพัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงินที่จะเพิ่มการสนับสนุนและช่วยให้นวัตกรรมออกไปสู่ตลาดมากขึ้นทั้งสิ้น 7 กลไก ดังนี้

1. กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

2. กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายมากขึ้น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน

3. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND​)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ

4. กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 50% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ทดสอบ การทวนสอบและประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ

5. กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion)

ทุนสำหรับทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วนสูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานภาครัฐ และสัดส่วนสูงสุด 50% ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานเอกชน หรือไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์ของธุรกิจฐานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายพร้อมกับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ

6. กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest)

ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกิน 75% ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม

7. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding)

ทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วน 50% ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ร่วมกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้ ดร.สุรอรรถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2567 จะนำร่องทดลองใช้กลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่กับการดำเนินงานของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจก่อน และในปีงบประมาณ 2568 จะนำมาใช้เป็นกลไกการให้ทุนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป