ธปท. มั่นใจไทยไม่เกิด “เงินฝืด” คาดเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ยังต่ำ ก่อนพลิกบวก Q1/67

ธปท. มั่นใจไทยไม่เกิด

ธปท.มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสมดุลขึ้น คาดปี 2567 โต 3.2% และปี 2568 อยู่ที่ 3.1% ยังโตตามศักยภาพ ชี้แรงขับเคลื่อนเปลี่ยนจากภาคบริการ สู่ภาคส่งออกสินค้า ลั่นเห็นเงินเฟ้อต่ำถึงต้นปีหน้า เหตุ 3 ปัจจัยหลัก “มาตรการภาครัฐ-ฐานที่สูง-ซัพพลายราคาหมู” แต่อยู่ในกรอบ 1-3% ยันไม่เกิด “ภาวะเงินฝืด” ด้านนโยบายการเงินผ่อนคลายน้อย แต่ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ มองดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี เหมาะสมรองรับความเสี่ยงได้

ชี้จีดีพี 3.2% ไม่ได้สูง แต่ฟื้นตัวดีกว่าก่อน

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในงาน “Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2566” ว่า การประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ที่ 3.2% (ไม่รวมดิจิทัลวอลเลต) กรณีรวม 3.8% ซึ่งมองว่าการขยายตัว 3.2% ถือเป็นการตัวเลขที่อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับสำนักพยากรณ์อื่น

ทั้งนี้ ภายใต้การขยายตัว 3.2% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประเมินเรื่องของดิจิทัลวอลเลตว่าจะมีหรือไม่มี หรือมีความล่าช้าออกไปก็ตาม นโยบายการเงินยังเหมาะสมภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ซึ่งมองว่าสามารถรองรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้

เช่นเดียวกับการปรับอัตราการเติบโตในปี 2567 กรณีรวมดิจิทัลวอลเลตจาก 4.4% เหลือ 3.8% นั้น เป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลง ทำให้เม็ดเงินรายได้ลดลง และตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2566 ออกมาต่ำกว่าคาด รวมถึงดิจิทัลวอลเลตระยะเวลาเลื่อนออกไปจากไตรมาสที่ 1/2567 เป็น ไตรมาส 2/2567 รวมถึงรูปแบบและเม็ดเงินในการใช้ปรับลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากถามศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่กว่า 3% ซึ่งหากต้องการเติบโตระยะยาวจะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มทักษะ หรือ Human Capital เน้นการลงทุนทางด้านการศึกษา และ

2.บรรยากาศสิ่งแวดล้อม คือ กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโต เช่น ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยการผ่องถ่ายอำนาจการผลิตในตลาดอาเซียและเอเชียมากขึ้น  เช่น รถไฟความเร็วสูง 1-2 เส้น ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการขนย้ายมากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดและเร่งการลงทุน

ADVERTISMENT

“ตัวที่เราให้น้ำหนักมากที่สุดในการเป็นตัวส่งการเติบโต คือ การส่งออกสินค้า ที่ปรับมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ว่าจะสามารถกลับมาได้จริงมากน้อยขนาดไหน และเราจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้แค่ไหน เพราะตอนนี้สัญญาณวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์เริ่มกลับมาเป็นบวก รวมถึงโลกหันจากการพึ่งภาคบริการกลับมาเป็นสินค้ามากขึ้น เป็นความเสี่ยงที่เราตามดูอยู่”

ADVERTISMENT

มองดิจิทัลวอลเลตไม่ถูกหั่นเรตติ้ง

นายปิติกล่าวว่า หากเทียบศักยภาพหรือช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังนั้น มองว่า นโยบายทั้งคู่มีความแข็งแรง (Powerful) ทั้งคู่ ซึ่งแต่ละเครื่องมือจะมีความพิเศษเฉพาะตัว หากดูนโยบายการเงินภายใต้ดอกเบี้ยอาจจะกระทบทุกภาคส่วน ทั้งต้นทุนกู้ยืมและการลงทุน โดยที่ผ่านมาในหลายประเทศได้ใช้ดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้หนี้ภาคเอกชนและสาธารณสูงขึ้น

ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอาจจะต้องดูบริบทเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ความจำเป็นน้อยลง จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี อยู่ในระดับเหมาะสมและมี Policy Space สามารถรองรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ได้

ขณะที่ด้านนโยบายการคลัง เป็นนโยบายที่เลือกกลุ่ม ทำเฉพาะเจาะลงได้ เช่น จะเห็นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่มีการอาศัยเครื่องมือการคลังในช่วงนั้นประมาณ 9% ของจีดีพี แต่เทียบกับต่างประเทศอยู่ที่ 10-15% แม้ว่าจะมีรูมแต่จะต้องมองในเรื่องของอุปทาน ความเสี่ยง และการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจน่าจะดีกว่า ดังนั้น จึงมองว่านโยบายการเงินและการคลังมีทั้งข้อดีและเสียแตกต่างกัน ซึ่งในปีนี้จะเห็นการกระตุ้นน้อยกว่าปีก่อน ถือเป็นสิ่งเหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีนโยบายเข้ามาช่วยเฉพาะจุดก็มีได้

“สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเลตอาจจะเพิ่มภาระทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้ ซึ่งหากมองไปในระยะยาว ถ้ามีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตจริง มองว่าภาคการคลังจะยังมีเสถียรภาพอยู่ หากเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามที่ประมาณการไว้ ดังนั้นเชื่อว่าดิจิทัลวอลเลตจะไม่เป็นตัวที่ทำให้ประเทศต้องถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งแต่อย่างใด”

ยันไทยไม่ได้เข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” แม้เงินเฟ้อต่ำ

ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2566 ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปจนถึงต้นปี 2567 และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 1/2567 จะกลับมาเป็นบวกได้ ภายหลังจากเดือนตุลาคม 2566 เงินเฟ้ออยู่ที่ -03% และเดือนพฤศจิกายน -0.4%

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อต่ำมาจาก 3 ปัจจัยด้วย ได้แก่ 1.มาตรการค่าครองชีพของภาครัฐในส่วนของค่าไฟ และการอุดหนุนราคาน้ำมัน 2.ฐานที่สูงในปีก่อนที่เห็นได้ชัดในหมวดอาหารสด ซึ่งในปี 2565 เจอน้ำท่วมทำให้ราคาผักผลไม้ปรับสูงขึ้น และ 3.ปัญหาซัพพลายจากราคาหมู ซึ่งปัจจุบันเริ่มคลี่คลาย

โดยหากดูอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน หากหักผลจากมาตรการค่าครองชีพจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกอยู่ที่ 0.9% และ 0.7% หรือเฉลี่ยเกือบ 1% ซึ่งตัวที่ฉุดจะเป็นเรื่องของราคาหมู แต่คาดว่าภายในปี 2567 หมวดอาหารสดจะปรับเป็นบวก ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานมาจากปัจจัยฐานปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปีอยู่ที่ 3% และทยอยปรับลดลงในช่วงปลายปีเหลือ 0.6%

ทั้งนี้ หากดูทั้ง 3 ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่ไม่ได้สะท้อน “ภาวะเงินฝืด” และมองในระยะต่อไปในประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น โดยตัวที่เป็นแรงขับเคลื่อนจะมาจากอาหารสด จากราคาหมูที่คลี่คลาย และปัญหาเอลนีโญ แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2% และปี 2568 จะอยู่ที่ 1.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับขึ้นตามอุปสงค์เฉลี่ยในปี 2567 อยู่ที่ 1.2% และในปี 2568 อยู่ที่ 1.3%

“ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าคาด คือ เอลนีโญ ที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ 0.2% และปีหน้าอยู่ที่ 0.4% และราคาพลังงานจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่โดยรวมเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางยังคงอยู่ในกรอบ 1-3% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2% แม้ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็เชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบ 2%

และ ‘ภาวะเงินฝืด’ ไม่ใช่ประเด็น เพราะหากดูตัวเลขการบริโภคไตรมาสที่ 3/66 ขยายตัว 8% และอัตราว่างงานปรับลดลงจาก 1.1% เดือนก่อนเหลือ 1% และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยยังบวกเกือบ 1% ไม่ได้สะท้อนภาวะเงินฝืด”

ยันภาวะการเงินผ่อนคลายน้อยลง แต่ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นโยบายการเงินและการบริหารความเสี่ยงในระยะข้างหน้านั้น สิ่งที่ ธปท.ติดตาม คือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และนัยต่อการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าไทย แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ความขัดแย้งในกลุ่มตะวันออกกลาง และผลกระทบเงินเฟ้อจากนโยบายรัฐอื่น ๆ

ทั้งนี้ หากดูการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังต่อเนื่อง และนโยบายการเงินจะต้องไม่ฉุดรั้งหรือสนับสนุนเกินไป ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อปี เป็นระดับเหมาะสม แม้ว่าจะไม่มีดิจิทัลวอลเลต คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะยังสามารถโตได้อยู่

ส่วนภาวะการเงินตอนนี้ยอมรับว่าตึงตัว หรือเรียกว่าผ่อนคลายน้อยลง เพราะอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นหลังจากดอกเบี้ยต่ำมานาน โดยการปรับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 70% ของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น และดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 50% สะท้อนว่าดอกเบี้ยขึ้นมาประมาณ 1% ส่วนบริษัท Rating A เฉลี่ย 1.70% ต่อปี สะท้อนภาวะการเงินไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

ขณะที่สินเชื่อชะลอตัวจริง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่หดตัวตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด เนื่องจากธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ และบริบทระยะหลังเป็นช่วงการปรับตัวของการชำระหนี้คืน เพราะสินเชื่อใหม่ยังโตอยู่ และหากดูในช่วง 1-2 เดือนหลังดูมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการเรื่องของเศรษฐกิจแล้วว่าจะกู้หรือไม่

“ที่ผ่านมา กนง. มีความกังวล เพราะนโยบายการเงิน เราใช้ดอกเบี้ยเดียวมาดูแลคน 70 ล้านคน ที่อาจมีบางส่วนที่มีความเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจริง ๆ และในช่วงที่มีหนี้ครัวเรือนระดับสูงอยู่แล้ว การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการเงินก็ต้องมีต้นทุนที่ต้องพิจารณาแน่นอน แต่หากเราห่วงกลุ่มเปราะบาง ผมมองว่าอาจมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถใช้เพื่อดูแลแบบเฉพาะเจาะจงเฉพาะบางกลุ่มที่มีปัญหาได้ ทาร์เก็ตเฉพาะเจาะจง ดีกว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบาย”

เศรษฐกิจไทยปี 2567-2568 ฟื้นตัวสมดุลขึ้น

นางสาวปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 ขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยไม่ร่วมดิจิทัลวอลเลตจะอยู่ที่ 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุนจะมาจากนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน และ 39 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ปรับจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในปี 2567 เหลือ 6.2 ล้านคน อัตราการฟื้นตัว 55.5% และในปี 2568 อยู่ที่ 6.8 ล้านคน ฟื้นตัว 70.1% ส่งผลให้ภาพรวมฟื้นตัวประมาณ 98% เทียบกับช่วงก่อนโควิด

ส่วนภาคบริโภคเอกชนได้รับอานิสงส์จากการจ้างงาน และการส่งออกและภาคผลิตกลับมาขยายตัวดีขึ้นตามเศษฐกิจโลก และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์กลับมา

“ภาพรวมจีดีพีฟื้นตัวต่อเนื่อง ฟื้นช้า ไม่เท่ากัน และมีเรื่องความไม่แน่นอนทั้ง บวก และลบ ด้านลบ เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด อิสราเอล-ฮามาส รวมถึงไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น เพราะไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง”