ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความเห็นต่าง ระหว่างนายกฯและผู้ว่าการ ธปท.

จับตาค่าเงินบาท
REUTERS/ Athit Perawongmetha

ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความคิดเห็นต่างกันระหว่างนายกฯและผู้ว่าการ ธปท. ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลัง หลังสมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสิ้นสุดลงแล้ว

วันที่ 10 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/1) ที่ระดับ 35.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ (9/1) ที่ระดับ 34.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากแรงกดดันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.053% เมื่อคืนนี้ หลังจากนางมิเชล โบว์แมน สมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสิ้นสุดลงแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยหากเงินเฟ้อปรับตัวลงต่อไปเข้าสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มกระบวนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

รวมถึงเมื่อคืนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายดุลการค้าสหรัฐหดตัวลง 2.0% สู่ 6.32 หมื่นล้านดอลลาร์ ในเดือน พ.ย. จาก 6.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ต.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 6.50 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกของสหรัฐร่วงลง 1.9% สู่ 2.537 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนยอดนำเข้าของสหรัฐร่วงลง 1.9% สู่ 3.169 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ธนาคารโลกเผยรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวเพียง 2.4% ในปีนี้ นับเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ก่อนที่จะขยายตัว 2.7% ในปีหน้า รายงานระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกสามารถปรับตัวอย่่างยืดหยุ่นในปีที่แล้ว ท่ามกลางความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยท้าทายในระยะใกล้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ชะลอตัวในปีนี้และปีหน้า เมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวเพียง 3.9% ในปีนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานานกว่า 1%

ADVERTISMENT

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันนี้นักลงทุนให้ความสนใจประเด็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายการเงินและผู้กำหนดนโยบายการคลัง ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงสวนทางกับทิศทางเงินเฟ้อภายในประเทศที่ต่ำ ซึ่งทั้งสองได้มีการหารือกันในช่วงบ่ายวันนี้

แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงเที่ยงมีรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีการเตรียมจัดงาน BOT Policy Briefing วันที่ 15 ม.ค. 67 ในหัวข้อเปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ โดยนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน, นางสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน

ADVERTISMENT

โดยแหล่งข่าวจาก ธปท.ชี้แจงว่า เป็นการเปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออธิบายแนวคิดของ ธปท. คล้ายกับการจัด Media Briefing ปกติ ซึ่งหลังจากมีการเปิดเผยหัวข้อแถลงข่าวดังกล่าวส่งผลให้ตลาดค่อนข้างตื่นตระหนก และทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเวลาประมาณ 12.32 น. อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วไปที่ระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์

จนกระทั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกันในช่วงบ่ายว่า ตนไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายการตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร จึงเพียงอธิบายเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจของภาวะประชาชน ส่วนผู้ว่าการ ธปท.กำลังมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และเมื่อนักข่าวถามในเรื่องของเงินเฟ้อของประเทศที่ติดลบว่า ทาง ธปท.ได้ให้ความเห็นว่าอย่างไร นายเศรษฐาปฏิเสธในการแสดงความเห็นเพิ่มเติม รวมถึงไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากจะถูกนำไปหารือในที่ประชุมใหญ่เพื่อจะได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยเปิดเผย

หลังจากนั้นช่วงบ่ายค่าเงินบาท ได้แข็งค่ากลับลงมาต่ำสุดที่ระดับ 34.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/1) ที่ระดับ 1.0928/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/1) ที่ระดับ 1.0942/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ระหว่างนั้นค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างแคบ หลังนักลงทุนจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะประกาศในคืนวันพฤหัสบดี (11/1)

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย. ขยายตัวที่ระดับ 0.5% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากในเดือนที่ผ่านมาหดตัว 0.3% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0921-1.0950 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0946/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/1) ที่ระดับ 144.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/1) ที่ระดับ 143.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเผยตัวเลขค่าจ้างแรงงาน (Average cash earnings) ประจำเดือน พ.ย. ขยายตัวที่ระดับ 0.2% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.5% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.30-145.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (11/01), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. ของสหรัฐ (11/01), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค.ของจีน (12/01), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรประจำเดือน พ.ย. (12/01) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. ของสหรัฐ (12/01)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.3/-8.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.8/-5.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ