บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ หลัง GDP โตต่ำกว่าคาด

เศรษฐกิจไทย

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ หลังตัวเลข GDP ปี 2566 โตต่ำกว่าคาด เหตุการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 24 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 35.74/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ระดับ 35.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องและเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนในตลาดเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้เมื่อวาน (23/1) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการเผยแพร่เอกสารการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 2566 ว่าจะเติบโตถึง 3.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในส่วนของ GDP ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) จากแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวสูง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 19.5% ต่อปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซีย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.65-35.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 1.0855/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ระดับ 1.0886/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0844-1.0880 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0880/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 148.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ 147.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultra-loose monetary policy) โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหาร สำหรับปีงบประมาณ 2567 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ระดับ 2.8% แต่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มดัชนี Core CPI สำหรับปีงบประมาณ 2568 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 1.7%

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.44-145.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐไตรมาส 4/66 (25/01), ดัชนีราคาใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน GfK เดือน ก.พ. (26/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.7/-8.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.2/-3.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ