คลังคอนเฟิร์มตัวเลขจีดีพีปี 2566 โต 1.8% ตอบไม่ชัด วิกฤตหรือไม่

GDP-เศรษฐกิจไทย

กระทรวงการคลังคอนเฟิร์มตัวเลข GDP ปี 2566 โต 1.8% ตามเอกสารหลุด คาดจะขยายตัวที่ 2.8% ในปี 2567 ตอบไม่ชัด วิกฤตหรือไม่ พร้อมแจงปมเอกสารหลุด ระบุไม่รู้หลุดได้อย่างไร

วันที่ 24 มกราคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6% ถึง 2.0%) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายร้อยละ 2.6 เป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 1.4% เท่านั้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% โดยแรงขับเคลื่อนจะมาจากภาคการส่งออกที่จะกลับมาชัดเจนขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และมีการจับจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ภาคการต่างประเทศจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าว คลังได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว โดยเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพที่ดี โดยการประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่ คำถามนี้อยากให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจหดตัวติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession)

ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัวและติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ทั้งนี้ ไตรมาส 4/2566 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่พบสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ในเดือน พ.ย.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวที่ -4/7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23 คอมพิวเตอร์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9

“คำศัพท์คำว่าวิกฤตเป็นคำวิเศษณ์ จะต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน ทั้งเรื่องวิกฤตเวลา และวิกฤตจากเหตุการณ์ เช่น วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ต้องมีหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่างไอเอ็มเอฟเข้ามาช่วยเหลือ และวิกฤตจากโควิด-19 ประชาชนออกจากบ้านไม่ได้ เศรษฐกิจซบเซา จนต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินมาช่วยเหลือ มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนสูง มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ก็เป็นวิกฤตที่ต้องมารับฟังข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา ว่าเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ หรือไม่” นายพรชัยกล่าว

ดังนั้น การขับเคลื่อนจีดีพีให้ได้ตามเป้าหมายจาก 1.8% ในปี’66 ให้เพิ่มเป็น 2.8% ในปี’67 นั้น ต้องให้แบงก์รัฐเข้าไปดูแลสินเชื่อกับรายย่อยให้มีสภาพคล่องประกอบธุรกิจ การเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเร่งแผนการลงทุน เมื่อติดตามช่วงต้นปีไตรมาสแรก จีดีพียังไม่ดีขึ้น อาจต้องเสนอรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม

นายพรชัยกล่าวถึงกรณีเอกสารประมาณการเศรษฐกิจไทยที่หลุดไปก่อนหน้านี้ ว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าว GDP ให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบทางวาจาแล้ว โดยปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ทำเอกสารชี้แจงตามระเบียบราชการ ว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างไร มาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจ 1.8% ก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่มาใช้พิจารณากัน มีการสอบยันข้อมูลว่าตัวเลขนี้ทำด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นการปรับลดที่ค่อนข้างมากจากคาดการณ์ครั้งก่อน

“ผมยังไม่รู้ว่าเอกสารหลุดไปทางไหนเลย แต่แม้จะมีปัญหาเอกสาร ตัวเลขจีดีพีหลุดออกไป ผมยังเชื่อมั่น สศค. ว่ายังเป็นเสาหลักเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับด้านเศรษฐกิจไทย” นายพรชัยกล่าว