
แบงก์ขานรับมาตรการ ธปท. เร่งปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อรายย่อย-ธุรกิจ กันตัวเลข เอ็นพีแอล ขยับ “กรุงไทย” โฟกัสกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย “ทิสโก้” เผยตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ย 200-300 รายต่อเดือน ส่วน “ทีทีบี” พร้อมช่วยลูกหนี้รถ-บ้าน ยืดเทอม-ผ่อนตามกำลัง ลดยึดรถ ฟาก “กรุงศรีฯ” ชี้ ลูกค้าเริ่มส่งสัญญาณเร่งเสนอแผนปรับโครงสร้างตามกระแสเงินสด-ดูเงินหลังหักชำระหนี้ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเอ็นพีแอลอยู่ในกรอบ 2.60-2.85%
นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน หากเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ให้ผู้ให้บริการเสนอแนวทางการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้เอ็นพีแอลอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ให้บริการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้
เร่งช่วยป้องกันลูกหนี้ตกชั้น
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ให้ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารรวมทั้งกรุงไทยที่มีการดำเนินการมาต่อเนื่อง
โดยกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบางที่ยังต้องช่วยประคองต่อเนื่อง หลังจากออกจากช่วงโควิด-19 และกลุ่มที่มีรายได้น้อยและปานกลาง มาตรการที่ช่วยเหลือจะเน้นยืดเทอม ปรับเทอมการชำระหนี้ให้เหมาะสม และมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมโดยที่ไม่สูญเสียวินัยกับระบบ
“หลัง ธปท.สื่อสารชัดเจนจะเป็นสแตนดาร์ดที่จะเป็นกรอบให้ธนาคารทำทั้งระบบ เดิมต่างคนต่างทำ จากนี้ไปเชื่อว่าจะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่มากขึ้น เพราะแบงก์ไม่มีใครชอบตัวเลขหนี้เสีย หากดูตัวเลขจากข้อมูลของเครดิตบูโรจะพบว่า กลุ่มรายได้ปานกลางและน้อย หรือราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มเปราะบางก็ต้องได้รับการดูแลและการช่วยเหลือ ซึ่งทุกธนาคารรวมทั้งกรุงไทยเองก็พยายามทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”
ขณะที่ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อไม่ให้ลูกค้าตกชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังจากสถานการณ์คลี่คลายพบว่า ลูกค้าเช่าซื้อสามารถกลับมาเป็นปกติถึง 70-80%
โดยช่วงก่อนโควิด-19 มีลูกค้าขอปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ย 50-100 รายต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 รายต่อเดือน ในช่วงโควิด-19 และปัจจุบันลดลงมาเหลือ 200-300 รายต่อเดือน คาดว่าปีนี้ตัวเลขอาจจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงสอดคล้องกับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอยู่ 7 แสนราย
โดยลูกค้ากลุ่มที่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล หลัก ๆ มี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารก็จะช่วยเหลือตามมาตรการ เช่น มาตรการคืนรถจบหนี้ หรือเจรจาเงื่อนไขยืดเทอมการผ่อนชำระ เป็นต้น และ 2.กลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ลูกค้าหาย ไม่สามารถติดต่อหรือตามตัวได้ ธนาคารจะทำบันทึกรายงานและดำเนินการบังคับคดี เพราะธนาคารต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกค้าขนาดใหญ่ ธนาคารได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเช่นกัน แต่มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับเช่าซื้อ มีเพียง 1-2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเต็นท์รถหรือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (ดีลเลอร์) ซึ่งประสบปัญหาเรื่องยอดขายและราคารถมือสองที่ลดลง
“เช่าซื้อ” ปรับโครงสร้างหนี้เพียบ
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามมาตรการของ ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (TDR) และจะทำมากขึ้นในปีนี้ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้ามาขอความช่วยเหลือและธนาคารเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ราว 1,000 รายต่อเดือน ลดลงจากช่วงที่พีกในช่วงโควิด-19 และมีบางส่วนที่เป็นลูกค้าเดิมที่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วและกลับมามีสถานภาพเป็นปกติ แต่จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงอาจกระทบต่อรายได้ ทำให้ลูกค้าเริ่มมีปัญหาและกลับมาขอความช่วยเหลืออีกครั้ง
ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ จะเป็นกลุ่มที่ทำมากขึ้นและเร็วขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาและยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มรถยนต์เฉลี่ยราว 5,000-6,000 คันต่อเดือน คาดว่าภายในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมเฉลี่ย 2,000-3,000 คันต่อเดือน
มาตรการส่วนใหญ่จะมีทั้งการยืดเทอมการชำระหนี้ตามกำลังผ่อนชำระ ลดค่างวดลง หรือหาโซลูชั่นอื่น ๆ ตามศักยภาพของลูกค้า สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันมีมาตรการรวมหนี้ ช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยควบคู่กัน ทำให้กลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันมีจำนวนไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
ด้านนางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและลูกหนี้เรื้อรัง และมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนเป็นเอ็นพีแอล และหลังเป็นหนี้เอ็นพีแอลอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารจะไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ทุกเดือน
หากเป็นกลุ่มที่เริ่มส่งสัญญาณมีปัญหาก็เข้าไปช่วยเหลือในการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงกลุ่มที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลก็ดูแลใกล้ชิด ซึ่งจะพิจารณาในเรื่องของกระแสเงินสด (Cash Flow) สถานะทางการเงินของลูกหนี้โดยคำนึงให้ลูกหนี้มีเงินเหลือสุทธิหลังชำระหนี้
“เรามีการปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าในแต่ละเดือน ทำให้พอร์ตลูกหนี้ไม่ได้มีปัญหา ขณะที่ลูกค้าใหม่ก็ให้ความระมัดระวัง กลุ่มที่มีปัญหาก็เข้าไปช่วยเหลือ หรือเป็นหนี้แล้วก็จะดูแลใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าปีนี้ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 2.50-2.75%”
คาด NPLในกรอบ 2.60-2.85%
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากมาตรการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของระบบธนาคารในปีนี้ คาดว่าจะเห็นหนี้เอ็นพีแอลอยู่ในกรอบ 2.60-2.85% จากปีก่อนน่าจะอยู่ที่ 2.68-2.69% อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเอ็นพีแอลที่ขยับขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน
แต่เชื่อว่าการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ และจะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ถี่ขึ้น เพราะแบงก์จะต้องช่วยเหลือลูกค้าอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย และจะเป็นผลดีต่อธนาคาร เพราะลูกค้ารอด แบงก์ก็สามารถอยู่รอด
การปรับโครงสร้างหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยลูกหนี้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วงปลายปี 2566 ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน หรือมาตรการฟ้า-ส้มของ ธปท. ที่ธนาคารจะได้ประโยชน์ในเรื่องของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งหมดอายุลงในสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนจากตัวเลขลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือที่ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำนวน 2.59 ล้านบัญชี เพิ่มจากสิ้นปี 2565 ที่อยู่ 1.78 ล้านบัญชี และคิดเป็นยอดภาระหนี้อยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท จาก 1.89 ล้านล้านบาท ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพิ่มจาก 3.43 ล้านบัญชีเป็น 3.64 ล้านบัญชี และภาระหนี้จาก 1.49 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 1.60 ล้านล้านบาท
หากดูตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง 5 ปีก่อนการระบาดของโควิด-19 ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส และหลังจากช่วงโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งหากลูกค้ากลับมาเป็นปกติถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อธนาคาร
อนึ่ง จากข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ณ เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 33.3% จาก 7.83 แสนล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2565 และหากพิจารณาในรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้จะพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 20.2% จาก 2.31 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.78 แสนล้านบาท
รองลงมาคือ สินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้น 5.3% จาก 3.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3.89 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 4.3% จาก 1.88 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.96 หมื่นล้านบาท