แบงก์กำไรพุ่งดอกเบี้ยหนุน ลุยตั้งสำรองสูงรับมือ “หนี้เสีย” ขยับ

ผลประกอบการแบงก์
ภาพจาก : freepik

เปิดข้อมูลผลประกอบการแบงก์พาณิชย์ปี’66 “SCBX” เบียดขึ้นแชมป์กำไรสูงสุด 4.35 หมื่นล้าน กสิกรไทย-กรุงเทพ ตามมาติด ๆ เผยดอกเบี้ยขาขึ้นดันกำไรแบงก์พุ่งทำสถิติ ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยทิศทางปี’67 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลง หลังต้นทุน “เงินฝาก” ไล่หลัง ขณะที่แบงก์ยังคงตั้งการ์ด “สำรอง” สูง รับมือหนี้เสีย-ปัจจัยไม่แน่นอน พร้อมเข้มคุณภาพสินทรัพย์ สัญญาณการปล่อยกู้ลดลง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี-รายย่อย 3 ซีอีโอแบงก์ใหญ่ชี้ปี’67 เศรษฐกิจอยู่บนความไม่แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้แจ้งผลประกอบการปี 2566 กันออกมาแล้ว โดยพบว่า แบงก์ 8 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 189,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.40% จากปีก่อน (YOY) โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% YOY ขณะที่แบงก์ที่กำไรเติบโตมากที่สุดในบรรดาแบงก์ใหญ่ด้วยกัน คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% YOY ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% YOY

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิจำนวน 32,929 ล้านบาท เติบโต 7.2% YOY ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) มีกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% YOY ธนาคารทิสโก้ (TISCO) มีกำไรสุทธิ จำนวน 7,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% YOY ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.85% YOY และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 44.9% YOY

สำหรับธนาคารกรุงไทย (KTB) (ตัวเลขประมาณการ) บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 39,500 ล้านบาท เติบโต 17% YOY

“กำไร KBANK ที่ประกาศออกมาถือว่า มีกำไรดีกว่าคาด 7% เช่นเดียวกับ SCB ที่มีกำไรออกมาดีกว่าคาด ใกล้เคียงกัน แต่สำหรับกำไร BBL ถือว่าออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ประมาณ 7%” นายธนเดชกล่าว

เอ็นพีแอลขยับขึ้นเล็กน้อย

ด้านสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวม 8 แบงก์ มีเอ็นพีแอลรวมกันที่ 399,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.26% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 398,263 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.04% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 399,106 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบงก์ที่เอ็นพีแอลลดลงค่อนข้างมาก คือ ธนาคารกรุงเทพ เอ็นพีแอล
สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 85,955 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 94,884 ล้านบาท ขณะที่ SCBX กับกสิกรไทย เอ็นพีแอลขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อสิ้นปี โดย SCBX มีเอ็นพีแอลที่ 96,832 ล้านบาท ส่วนกสิกรไทยเอ็นพีแอลอยู่ที่ 94,241 ล้านบาท ด้านกรุงศรี เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากอยู่ที่ 61,481 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน 59,135 ล้านบาท

SCBX ตั้งสำรองเพิ่มสูงสุด

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อรับความเสี่ยงหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น โดยภาพรวม 8 แบงก์อยู่ที่ 192,776 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่สำรอง 168,767 ล้านบาท โดยแบงก์กรุงเทพ และกสิกรไทย ตั้งสำรองในระดับใกล้เคียงปีก่อน คือ แบงก์กรุงเทพ ตั้งที่ 33,666 ล้านบาท กสิกรไทย ตั้งสำรอง 51,840 ล้านบาท ส่วน SCBX ตั้งสำรอง 43,600 ล้านบาท เพิ่มสูงจากปีก่อนมีการตั้งสำรอง 33,829 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแบงก์ขนาดกลางอย่างธนาคารกรุงศรีฯ ที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก ที่ 35,617 ล้านบาท จากปีก่อน 26,652 ล้านบาท ส่วนทีทีบีตั้งสำรอง 22,199 ล้านบาท จากปีก่อนตั้ง 18,353 ล้านบาท

BBL ปล่อยกู้ธุรกิจกลางลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อน (YOY) จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 28.0% โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับต้นทุนเงินรับฝาก
ที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย

โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,671,964 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน ทั้งนี้ พบว่าสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้น แต่สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีกลดลง ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อปี 2566 อยู่ที่ 2.7% ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.1%

CEO แบงก์ชี้ปี’67 ไม่แน่นอน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่หลากหลายจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการเติบโตที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด แม้ว่าการเติบโตของเงินให้สินเชื่อชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมุ่งเน้นการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสม

สำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่าง ๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด ภายใต้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ทั่วถึง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ตลอดจนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีการเติบโตของสินเชื่อผู้บริโภคแบบไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในอัตรา 24% จากปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อคงค้างในส่วนนี้กว่า 165,000 ล้านบาท เป็นการตอบรับแนวนโยบายภาครัฐ เรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อยของประเทศ

อานิสงส์ NIM ปี’67 เริ่มหมดแรง

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในระบบของปี 2566 จะเห็นว่าผลการดำเนินงานยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวไม่มากก็ตาม อย่างไรก็ดี แนวโน้ม NIM ในปี 2567 จะทยอยแคบลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว และต้นทุนเงินฝากจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อานิสงส์จาก NIM จะปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ผลจาก NIM ที่ปรับสูงขึ้น ยังไม่รวมผลจากต้นทุนการบริหารจัดการสินทรัพย์ และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวแล้วจะทำให้เป็นตัวถ่วงอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ปรับลดลง ซึ่งจะเห็นว่าผลการดำเนินงานในกลุ่มธนาคารถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเซ็กเตอร์อื่นและประเทศอื่นที่ปรับดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ

ตั้งสำรองสูง-คุมคุณภาพสินเชื่อ

นางสาวธัญญลักษณ์ระบุว่า ตัวเลขการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2566 ของระบบธนาคารยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่นที่ปรับลดลงแล้วตามการช่วยเหลือลูกค้า แต่ของไทยยังคงมีลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือค่อนข้างมาก โดยในปี 2566 คาดว่าธนาคารมีการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อยู่ที่ 1.25% และกรอบปี 2567 จะอยู่ที่ 1.10-1.25% เนื่องจากไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อ โดยยังคงเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มอัตราการเติบโตสินเชื่อในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% ปรับดีขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 1% แต่อัตราการเติบโตในปี 2567 ก็ไม่ได้หวือหวามากนัก เนื่องจากธนาคารยังให้ความระมัดระวังคุณภาพสินเชื่ออยู่ สอดคล้องกับภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ (Fee Income) ยังขยายตัวต่ำ โดยในปี 2567 คาดเติบโตอยู่ที่ 1.5-2.2% หรืออยู่ที่ 1.82-1.84 แสนล้านบาท จากปีนี้ขยายตัว 1.7% หรืออยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท โดยค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อ รวมถึงการขายประกันและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่ได้ปรับดีขึ้น เพราะตลาดยังคงมีความผันผวน