“หนุ่มเมืองจันท์” ตั้งคำถาม “แบงก์ชาติ”คิดอย่างไร เมื่อแบงก์พาณิชย์กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์

หนุ่มเมืองจันทน์

คอลัมนิสต์ดัง “หนุ่มเมืองจันท์” ตั้งคำถามถึง “แบงก์ชาติ” รู้สึกอย่างไร เมื่อแบงก์พาณิชย์กำไรทะลุ 2.2 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

วันที่ 7 มกราคม 2567 หลังจากประชาชาติธุรกิจนำเสนอข่าว ”แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้านอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์“ คอลัมน์นิสต์ชื่อดังเจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” ได้โพสต์เพซบุ๊ก ระบุว่า เห็นพาดหัวข่าวของ ”ประชาชาติธุรกิจ“ วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ

ผมไม่รู้ว่า “แบงก์ชาติ” จะรู้สึกตะหงิดอะไรในใจบ้างไหม

หนุ่มเมืองจันท์ ระบุว่า ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น

ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกาย หรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ

ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4%

พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี

ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว

รวมทั้งคนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50%

แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70%

เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้น ในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม

แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย

โดยลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง

พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งน่าเกลียด

เพราะกำไรที่สูงลิ่วของแบงก์

มาจาก “การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ NIM

หมายความว่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น

แบงก์ก็ขยับ “ส่วนต่าง” ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม

จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อย ๆ แต่ให้กู้แพง ๆ ทำกำไรแบบง่าย ๆ

หนุ่มเมืองจันท์ตั้งคำถามว่า หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง “หัวใจ”

ถ้าการทำงานของ “หัวใจ” ผิดปกติแบบนี้จะไม่คิดทำอะไรบ้างหรือครับ หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว