วิกฤตหนี้เสีย “รถ-บ้าน”ลาม ดอกเบี้ยสูงซ้ำเติมครัวเรือนกระอัก

ล้วงลึก “วิกฤตหนี้ครัวเรือน” เครดิตบูโรเปิดข้อมูล ปิดปี 2566 “หนี้เสีย+หนี้ SM” รวมทะลุ 1.6 ล้านล้าน จับตา “หนี้บ้าน” ค้างชำระพุ่ง 31% “หนี้รถ” ฝีแตก NPL กระฉูด 28% ดันหนี้เสียรถยนต์แตะ 2.3 แสนล้าน แถมกลุ่มหนี้กำลังจะเสียวิ่งไล่มาอีก 2 แสนล้าน แบงก์ผวาหนี้เสียลุกลามกลุ่มปัจจัยสี่ เข้มปล่อยกู้ฉุดตลาดรถ-บ้านขายไม่ออก

ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ชี้ภาวะดอกเบี้ยสูง กดทับปัญหาหนี้ครัวเรือน “เมาค้าง” เป็นปัญหาไปอีกนาน ฝาก ธปท.ปรับวิธีคิดสูตรแก้หนี้ เอ็มดีศูนย์วิจัยกสิกรฯย้ำดอกเบี้ยสูงกดทับปัญหาความสามารถชำระหนี้คนไทย ขณะที่รายได้ต่อหัวลดลง หนี้ภาคธุรกิจยังจัดการได้ ยอมรับบางเซ็กเตอร์ความเสี่ยงเพิ่ม

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดตัวรายการใหม่ 2567 บนทุกแพลตฟอร์ม “Prachachat In depth” สัมภาษณ์พิเศษรุ่นใหม่-รุ่นใหญ่ แบบล้วงลึกกับประเด็นร้อนธุรกิจ-เศรษฐกิจไทย ประเดิม EP แรกเดือนกุมภาพันธ์นี้ กับประเด็นร้อน สัญญาณอันตราย “วิกฤตหนี้…ยุคดอกเบี้ยสูง” ได้รับเกียรติจากนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ร่วมล้วงลึกปัญหาและทางออก

ช็อก! NPL รถกระฉูด 28%

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ฉายภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91 % ของจีดีพี (ข้อมูลไตรมาสที่ 3/2566) ซึ่ง ธปท.มีเป้าหมายหมายต้องการให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพี โดยจะไปถึงเป้าหมายได้จะต้องเห็นอัตราการขยายตัวทางจีดีพีสูงกว่าการก่อหนี้ แต่ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวระดับ 1.8-2%

ตารางตัวเลขหนี้เสีย

ทั้งนี้สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร (ไม่รวมหนี้กยศ.) ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 13.6-13.7 ล้านล้านบาท เติบโต 3.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากสมาชิก 140 สถาบัน

โดยพบว่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น  7.7% และเป็นหนี้กำลังจะเสีย (SM-ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน) รวม 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8%

สำหรับหนี้เอ็นพีแอล 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านคน  โดยหนี้ที่เครดิตบูโรเป็นกังวล 3 ตัว คือ 1.หนี้เสียรถยนต์ ที่มีอยู่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% YOY  นอกจากนี้ยังมีส่วนของหนี้กำลังจะเสียอีก 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

นายสุรพลกล่าวว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นถึง28%  เป็นการแสดงอาการหนี้เสียของรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากอาการผ่านรถยึดที่เข้าลานประมูล รถมือสองราคาตก และงบการเงินปี 2566 ของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์มีการเร่งตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพราะขาดทุนรถยึด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน

เจาะไส้ใน “บ้าน” ค้างชำระพุ่ง

และหนี้ตัวที่สองที่เครดิตบูโรให้ความสนใจมาก คือ “สินเชื่อบ้าน” ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% YOY ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เป็นหนี้เสีย 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 12% YOY ซึ่งเป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เนื่องจากเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยแพง โดยมีลักษณะ “กู้เป็นก้อน
ผ่อนเป็นงวด”

“พระเอกรอบที่แล้วที่สร้างความกังวลและสร้างปัญหา คือ หนี้รถยนต์ แต่ตอนนี้ พระรองที่กำลังจะวิ่งขึ้นมาแทนคือ หนี้บ้าน และหากดูหนี้บ้านที่กำลังจะเสีย (ค้างชำระ 31-90 วัน) อีกราว 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 31% สัญญาณตัวนี้มาแบบเดียวกับที่เคยเห็นหนี้ SM ของรถยนต์ที่ขึ้นมาเมื่อหลายไตรมาสก่อน”

นายสุรพลกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ความสามารถการผ่อนบ้านสะดุดอาจมาจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น ซึ่งประมาณ 60-70% ของหนี้กำลังจะเสียของสินเชื่อบ้านหรือราว 1.2 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้านที่มีสัญญาวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งคนที่ผ่อนบ้านราคา 3 ล้านบาท  เป็นคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย และเป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐ ซึ่งก็ต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ก่อนจะไปเป็นหนี้เสีย

“SM หรือหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนและมีโอกาสเป็นหนี้เสียกว่า 6 แสนล้านบาท หลัก ๆ มาจากสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้าน  สินเชื่อรถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท  และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.5 แสนล้านบาท  กลุ่มนี้ยังไม่ถูกฟ้อง แต่จะถูกติดตามหนี้เข้มข้น”

เกณฑ์แก้หนี้เข้ม-ไม่ง่าย

นายสุรพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหนี้เสีย ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.3%  ก็สะท้อนถึงการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ดี กระบวนการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ ในแง่กฎกติกาคนกลุ่มนี้ยังต้องมีรายได้ รายได้มั่นคง แน่นอน เพียงพอสม่ำเสมอที่จะจ่ายชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ได้

และสัญญาใหม่ถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง เพราะฉะนั้น ภาระตรงนี้ถ้ารายได้ไม่มาตามนัด หรือไม่มีรายได้มากพอ การปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้ยาก จึงเป็นที่มาของกติกาตอนนี้ว่าเราจะเดินกันแบบไหน อย่างไร

“โลกหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการอิสระมีมากขึ้น ไม่ได้มีเงินเดือน ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ก็ถูกตีความว่ามีรายได้ไม่แน่นอน  ซึ่งก็กลายเป็นลูกค้าที่ไม่ใช่เกรดที่ดีนัก แม้จะมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ดอกเบี้ยที่จะเอื้ออาทรตอนที่จะปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้แค่ไหน  นี่คือประเด็นของปัญหา”

คนรายได้ 3-5 หมื่นมีหนี้ปริ่มน้ำ

นายสุรพลฉายภาพว่า ในช่วงวิกฤตหนี้ปี 2540 คนที่โดนผลกระทบกลุ่มแรกจะเป็น “คอร์ปอเรต” ที่ล้มหายตายจากไป แต่คนตัวเล็กได้รับผลกระทบน้อย แต่รอบนี้เปรียบเหมือนเกิดไฟป่า ต้นไม้ใหญ่สามารถทนได้ระดับหนึ่ง แต่คนตัวเล็กกระทบหมด ซึ่งจากข้อมูลสำนักวิจัย (EIC) ได้แยกกลุ่มรายได้ของคนไทยออกเป็น 4-5 กลุ่ม เพื่อดูสัดส่วนรายได้กับหนี้ที่ต้องชำระ หรือ Debt Payment

พบว่า กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท นำค่าใช้จ่ายกินใช้บวกกับค่าใช้จ่ายหนี้ หารรายได้ จะมี Debt Payment สูงถึง 130-140% คือมีรายได้ 100 บาท แต่มีค่าใช้จ่าย 130-140 บาท กลุ่มนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งกลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มน็อนแบงก์

กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาท ถือเป็นกลุ่มปลอดภัย (Safe Zone) ของสถาบันการเงิน พบมี Debt Payment ถึง 104% สะท้อนว่าเริ่มปริ่มน้ำและเริ่มตัน เพราะมีหนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากงานวิจัยนี้สะท้อนว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ถ้าเป็นสัญญาณไฟก็เป็นไฟเหลือง

นายสุรพลเล่าว่า แนวทางการแก้ไขหนี้ ที่สุดแล้วจะต้องกลับมาที่คำเดียวคือ “รายได้ที่เพิ่มขึ้น” แต่ที่ผ่านมาพูดกันว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน แต่หากไปดูในมิติต่าง ๆ เราสูญเสียความสามารถการแข่งขันในหลายจุด จนอาจเป็น “ไทยมีศักยภาพต่ำที่จะโต” ซึ่งความหมายจะแตกต่างกัน และมุมองจะเปลี่ยนทันที เพราะถ้าไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ คือยังสามารถวิ่งมาราธอนได้ แต่กรณีไทยศักยภาพต่ำที่จะโต เหมือนคนที่แบกเป้หนักหรือมีหนี้เยอะ จะวิ่งระยะยาวก็ยาก และหากล้มจะลุกยากกว่าคนที่ไม่มีหนี้

ประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือว่า สินเชื่อเกษตร ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในระบบของเครดิตบูโร หมายถึงเกษตรกรกู้ 1 ล้านล้านบาท 47% ของหนี้ก้อนหนี้คือ 470,000 ล้านบาท อยู่ในมือเกษตรกรที่อายุ 55 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น คำถามคือเกษตรกรที่มีอายุเยอะ 55 ปี เขาจะไปเป็น Smart Farmer ไหวมั้ย เกษตรกรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ที่เห็นในระบบมีแค่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ที่หวังว่าจะเป็นเกษตร Smart Farmer ที่จะใช้เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีมาช่วย ดังนั้นถ้าภาพเป็นแบบนี้ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) คุณภาพอาหาร (Food Quality) ของเราคืออะไร

ดบ.ต่ำไม่กระตุ้นก่อหนี้เสมอไป

นอกจากนี้ คำกล่าวที่ว่า “ดอกเบี้ยต่ำ” จะเป็นการกระตุ้นให้ก่อหนี้หรือได้สินเชื่อง่ายขึ้นเสมอไป เพราะหากดูข้อมูลไตรมาสที่ 4/2566 ของเครดิตบูโร พบว่า สถาบันการเงินเข้ามาดูข้อมูลวิเคราะห์สินเชื่อใหม่ลดลงจากระดับล้านราย เหลือเพียง 2-3 หมื่นราย สะท้อนถึงการที่สถาบันการเงินเข้มงวดมีนโยบายการคัดกรองก่อน เช่น ดูรายได้แน่นอนหรือไม่ และบริษัทที่จ้างงานอยู่ในเศรษฐกิจ K ขาขึ้น หรือขาลง และจึงเข้ามาดูภาระหนี้ กรณีมีรายได้ 5 หมื่นบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 104% ก็ไม่สามารถเติมหนี้ใหม่ได้ ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) เช่น ที่เห็นในสินเชื่อรถยนต์

“ดอกเบี้ยมีอำนาจ เพราะเวลาสาดเข้าไปมันโดนกันทุกคน มันไม่ได้เลือกยากดีมีจน โดนกันหมด เพียงแต่ว่าการรับแรงกระแทกแต่ละคนแค่ไหน ดังนั้น เราจะแยกยังไงว่ากลุ่มนี้จะช่วยเขา กลุ่มที่หักเงินเดือนจะทำอย่างไร กลุ่มที่มีหนี้เกินศักยภาพจะทำอย่างไร ศักยภาพเขามีแค่นี้นะ เงินเดือนเขามีแค่นี้ ทางแก้ปัญหาที่เราบอกว่าที่มันพอจะทำได้สำหรับบางคน มันเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง”

“เมาค้าง” หนี้ครัวเรือน

นายสุรพลกล่าวว่า เมื่อแบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อก็ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการขายรถ ขายบ้าน ก็ขายยากขึ้น เพราะการซื้อของชิ้นใหญ่ในบ้านเรา ไม่มีใครควักเงินสด เมื่อจะซื้อของชิ้นใหญ่จะต้องกู้ เป็นหนี้ผ่อนกับสถาบันการเงิน โดยที่สมัยก่อนเราอาจจะไม่มีดาวน์ ดอกเบี้ยโปรโมชั่นบางที 0% ได้หลาย ๆ เดือน ตอนนี้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราจะได้สินเชื่อใหม่จะยากขึ้น

“ผมคิดว่าประเทศไทยคงต้องอยู่กับปัญหาหนี้ครัวเรือนไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อาจจะนานกว่าที่เราคิด ถ้าเศรษฐกิจเรายังเป็นประมาณนี้ คงต้องแฮงกับมัน เหมือนเมาค้างกับเรื่องหนี้ ผะอืดผะอมกับมัน กลับไม่ได้ไปไม่ถึงอีกระยะเวลาหนึ่ง เพราะว่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น”

นายสุรพลกล่าวว่า หนี้ตัวที่ออกอาการไปแล้ว และเห็นผลอย่างชัดเจนก็คือ “รถยนต์” ที่หลายรายเป็นหนี้เสียสูงมาก ซึ่งปีนี้ก็ต้องเคลียร์กัน และตัวที่กำลังมาก็คือ “บ้าน” ซึ่งคนที่ทำสินเชื่อก็จะกลัวที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่เข้ามาถึงระดับที่เป็นหนี้ที่เข้าถึงปัจจัยสี่ หรือหลักความมั่นคงของชีวิต ส่วนบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่บัตรเครดิตถามว่าความร้ายแรงมันคือ ไปบ่มเพาะนิสัยในการก่อหนี้ แต่ตัวที่ไปติดกับดักคือ Personal Loan กู้เป็นก้อน ผ่อนเป็นงวด กู้ไปใช้จ่าย

ปัญหาขณะนี้ที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาเก่าจาก Personal Loan ก้อนหนึ่ง หนี้รถยนต์ที่กำลังเจอช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้คือสัญญาณการค้างชำระ “หนี้บ้าน” คนที่รายได้กลางกับล่าง และต้องอยู่กับปัญหานี้ อาจจะนานกว่าที่เราอยากจะอยู่กับมันไปอีกระยะหนึ่ง  ถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้

ฝาก ธปท. สูตรแก้หนี้สิ่งมีชีวิต

นายสุรพลกล่าวว่า ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ตัวที่เฝ้ามองก็คือ อัตราการไหลจาก “หนี้ที่กำลังจะเสีย” ไปเป็น “หนี้เสีย” ไหลแบบเขื่อนแตกหรือเปล่า ในส่วนสินเชื่อบ้าน เท่าที่แบงก์ชาติเคยเล่าให้ฟัง อัตราการไหลเป็นหนี้เสียประมาณ 22% ส่วนรถยนต์ (เฉพาะแบงก์) ไหลประมาณ 12% บัตรเครดิตไหลมา 57% สินเชื่อส่วนบุคคลไหลมา 53% เพราะฉะนั้น ถ้าดูจาก SM ที่มีอยู่ 6 แสนล้านบาท ก็มีโอกาสไหลกลับเป็นไปหนี้ดี ไหลกลับไปเป็นหนี้เสีย

ขณะที่หนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท ก็มีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ามีการวางเขื่อน ฝายทดน้ำเป็นจุด ๆ ดังนั้น ธปท.จึงมั่นใจว่า ไม่มีการตกหน้าผาเอ็นพีแอลแน่ ๆ ไม่“แต่ต้องบอกว่า หนี้ปี 2567 เป็นหนี้ครัวเรือน การเป็นหนี้เสีย 1 คน คือ 1 ชีวิต คือความเดือดร้อนของ 1 ครอบครัว ไม่เหมือนปี 2540 เป็นหนี้คอร์ปอเรตเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่เที่ยวนี้มันเป็นหน่วยเล็ก ๆ ของสังคม ซึ่งลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลตอนนี้ประมาณ 3 ล้านคน ถ้าคนที่เป็นปัญหาก็คือ 100% ของชีวิตเขา เพราะฉะนั้นจริง ๆ เที่ยวนี้ ผมอยากให้มองว่า เราไม่ได้แก้ปัญหาทางการเงิน เรากำลังแก้ปัญหาสังคม”

นายสุรพลกล่าวว่า ต้องมองในมิติว่า แก้ธุรกิจแบบหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาสังคม การแก้ปัญหาหนี้สินที่เป็นหน่วยเล็ก ๆ ของสังคม ไม่สามารถใช้สูตรทางการเงินที่ไม่มีจิตใจ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความเมตตาใส่เข้าไปได้ ต้องใส่ความเมตตาเข้าไปในนั้นถึงจะไปได้ เพราะฉะนั้น อยากให้ Policy Maker เวลาจะออกกฎเกณฑ์ ให้คิดว่ากำลังทรีตเมนต์ “สิ่งที่มีชีวิต” กำลังแก้ปัญหาของสิ่งที่มีชีวิต

กสิกรฯชี้ดอกเบี้ยสูงเพิ่มภาระหนี้

ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ จะยิ่งทำให้ภาระดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ค่อนข้างสูง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยดอกเบี้ยแท้จริงสูงสุดในภูมิภาค ดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% และเงินเฟ้อ -1.11% ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ราว 3.6% ซึ่งสามารถเป็นไกด์ไลน์ว่าในเชิงหลักการภาระหนี้จะใหญ่กว่าเดิม สะท้อนผ่านกำลังซื้อ ดังนั้นในช่วงเงินฝืด เราควรจะต้อง “ลดดอกเบี้ย” และดู “ดอกเบี้ยที่แท้จริง”

ในมุมมองและจากการดูข้อมูลพบว่า ประเทศไทยโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค การฟื้นตัวเหมือนคนแก่ที่ป่วยไม่ได้ฟื้นเต็มที่ แถมยังมีภาระดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อติดลบ ปัจจัยหลายอย่างทับถมกัน ซึ่งหากเทียบในปี 2540 คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีหนี้เยอะขนาดนี้ แต่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนกว่า 90% ของจีดีพี ตัวนี้เป็นตัวฉุด เพราะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีก เป็นประเทศที่แก่และยังมีลูกตุ้มหนัก ๆ ไม่รู้จะไปยังไง

“ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจริง ๆ เพราะพอปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาจาก 0.50% มาเป็น 2.50% ภาระหนี้เขาเพิ่มขึ้นมาประมาณ 30-40% ขณะที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว K-Shape ธุรกิจบางตัวไปได้ คือธุรกิจที่ลิงก์กับการท่องเที่ยว ธุรกิจใหญ่พอไปรอด ธุรกิจเล็กที่เจอการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันจากต่างประเทศ จีนบ้าง ประเทศอื่นบ้าง กลุ่มที่พึ่งพาส่งออกและการผลิตยังเผชิญปัญหา เพราะว่าการค้าโลกยังไม่ได้ฟื้นกลับมาเป็นปกติ คนที่มีรายได้น้อยก็จะมีปัญหาเยอะ ทำให้เห็นปัญหาในกลุ่มคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีเยอะขึ้น”

“หนี้ภาคธุรกิจ” ยังจัดการได้

นายบุรินทร์กล่าวต่อไปว่า หากมองในภาพเอ็นพีแอลของธนาคารจะเห็นเลยว่า อัตราหนี้ที่มีปัญหาจะอยู่ในกลุ่มตัวเล็ก ๆ อาจจะเป็นกลุ่มรายย่อย และเอสเอ็มอีเยอะขึ้น สะท้อนกลับมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ และบริษัทเล็ก ๆ ปรับตัวไม่ได้ สายป่านไม่ยาว เริ่มมีปัญหา เพราะฉะนั้นกลับมาว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อ อันนี้ก็เป็นปัญหาระดับชาติ

อย่างไรก็ดี สำหรับลูกค้าที่มีปัญหา ธนาคารก็มีการไปคุยกับลูกค้า ซึ่งจะคล้ายกับโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) โดยธนาคารก็มีการบริหารจัดการในมุมของธนาคาร ซึ่งในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า สินเชื่อธุรกิจโดยรวมดีกว่าปีที่แล้ว และบางเซ็กเตอร์ก็มีความชัดเจนขึ้น เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจที่ลิงก์กับการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นทุกจังหวัด แต่ดีขึ้นในบางส่วน

นายบุรินทร์กล่าวว่า ในแง่ของหนี้ธุรกิจ มองว่าในแง่สถาบันการเงินยังคุมได้ ทรง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าคนละแบบกับที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ในมุมมองของแบงก์เป็นหนี้ที่จัดการพอไปได้ แต่ความเสี่ยงในบางกลุ่มธุรกิจก็เพิ่มขึ้น แต่โดยรวมไม่ได้น่ากังวลเหมือนปี 2540

รายได้ต่อหัวคนไทยลดลง

นายบุรินทร์กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่สะท้อนปัญหาคือ รายได้ประชาชน คือ GDP Per Capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว) ปี 2019 เราอยู่ 7,600 บาท ปี 2022 (ตัวเลขล่าสุด) เราเหลือประมาณ 6,900 บาท อันนี้สะท้อนแล้วว่าไม่ปกติ คือรายได้คนหายไป แต่หนี้ดันเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาระก็ทับถมมาหนัก อันนี้ก็ต้องเพิ่มรายได้

ประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่เรื่องความสามารถการแข่งขัน เช่น ที่ตอนนี้บริษัทจีน โรงงานจีน ก็หั่นราคาคือ ลด แลก แจก แถม เพื่อจะเคลียร์สต๊อก ทำให้ตอนนี้ประเทศอื่นที่พึ่งการผลิตก็มีปัญหาหมด ของจีนเราเห็นดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ติดลบมาประมาณ 15 เดือนแล้ว ก็คือ ลดราคาของลงมาถูก ตัวเลขส่งออกของจีนติดลบกว่า 20% ก็คือลดราคาสินค้าเพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์ คือส่งออกโดยรวมเขาขยาย แต่จากการหั่นราคาหนักหน่วง เพราะฉะนั้นก็กระทบอย่างประเทศไทย

รับมือวัยเกษียณแบกหนี้

นายบุรินทร์กล่าวว่า สำหรับผม ผมมองว่าเหมือนเรามีหนี้อยู่ สิ่งที่เราต้องการแก้คือรายได้ที่เยอะขึ้น แต่จากโครงสร้างประชากรที่เข้าสังคมสูงวัย รายได้จะลดลง อีกไม่กี่ปี 25% ของประชากรจะอายุเกิน 65 ปี ตอนนี้ถึงต้องฝากรัฐบาล คนเกษียณพร้อมไหมในการดำรงชีวิตอยู่ ขณะที่มีหนี้สินที่ต้องชำระ

“ระบบบำนาญของเราอาจจะไม่ได้มีครอบคลุมทุกคน เงินผู้สูงอายุ 60 ปี 600 บาท 70 ปี 700 บาท มันก็ไม่เพียงพอ อาจจะต้องกลับมามองว่า จะขยายอายุการทำงานไหม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังทำ ผมว่ามันเป็นปัญหาที่เร่งด่วนมาก ๆ เพราะมองไป หนี้ไม่ได้ลด แต่รายได้กำลังจะลด เยอะด้วย”