บล.กสิกร แนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTG หลังยืนยัน Subway ให้สิทธิบริหารแฟรนไชส์ 10 ปี

PTG PT Subway QSR

“พีทีจี เอ็นเนอยี” คว้าสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ Subway แต่เพียงผู้เดียวในไทย เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ 1 เม.ย. 67 ด้าน “บล.กสิกรไทย” มองบวกจากความชัดเจนเรื่องถือสิทธิที่ออกมาอย่างเป็นทางการ คงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTG ที่ราคา 11 บาท

วันที่ 2 เมษายน 2567 นายรังสรรค์ พวงปราง เลขานุการบริษัท บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทขอเรียนให้ทราบว่าตามที่บริษัทได้แจ้งวัตถุประสงค์การลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ไปแล้วนั้น บริษัทขอแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในฐานะที่เป็นเจ้าของ Master Franchise ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า Subway

และบริหารจัดการร้านอาหารภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า Subway ในประเทศไทยว่า บริษัท โกลัค จำกัด (GL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท ได้ดำเนินการตามข้อกำหนด และเงื่อนไขภายใต้สัญญาให้สิทธิ มาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย กับ บริษัท ซับเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วี. จำกัด (SIBV) อย่างครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ บริษัท ซับเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วี. จำกัด ได้ออกหนังสือรับรองฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2567 ยืนยันว่า บริษัท โกลัค จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ของซับเวย์ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทได้ทำตามระเบียบ ขั้นตอน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการเข้าร่วมทุนตามกระบวนการที่ถูกต้อง ครบถ้วนของจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และเป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

โดยทางซับเวย์ หนึ่งในแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้าทำสัญญามาสเตอร์แฟรนไชส์ฉบับใหม่ กับบริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งมีบริษัท พีที่จี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากในระดับผู้ถือหุ้นแท้จริง (ultimate shareholder) ทั้งนี้เพื่อการเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศไทยต่อไป ภายใต้ความร่วมมือครั้งใหม่นี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า บริษัท โกลัค จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเปิดร้านซับเวย์เพิ่มเติมในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นจากเดิมอีกราว 3 เท่า รวมถึงยังได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการและพัฒนาร้านซับเวย์สาขาต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

ADVERTISMENT

“สัญญาฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในยุทธศาสตร์การเติบโตของซับเวยในระดับสากล โดยเรายังคงเดินหน้าเน้นไปที่กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจและลงไว้ ซึ่งความเป็นหนึ่งในแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป”

นายเอริค ฟู ประธานบริษัท ซับเวย์ เอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว และเรามีความตั้งใจที่จะนำประสบการณ์ในแบบของซับเวย์มาให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคนี้ใด้สัมผัสมากขึ้น

ADVERTISMENT

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า PTG ขอขอบคุณซับเวย์เป็นอย่างยิ่งที่ได้แต่งตั้งบริษัท โกลัค จำกัด ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย และมอบความไว้วางใจให้เราร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของแบรนด์ในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของพีทีจีในการขยายพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ทางบริษัทเห็นถึงความสำคัญในการเดินหน้าขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจหลักต่อไปในอนาคต โดยมีความตั้งใจนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใด้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายหลักอีกประการคือการนำเสนอช่องทางใหม่ ๆ แก่ลูกค้า โดยเชิญชวนให้ลูกค้ากว่า 21 ล้านราย ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ถือบัตร PT Max Card และ PT Max Card Plus ให้สามารถเข้าถึงการบริการที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดประสิทธิภาพในระบบนิเวศทางธุรกิจและแบรนด์ของทาง PTG ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เรายังมีความยินดีที่ทางคุณเพชรัตน์ อุทัยสาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ F&B และมีประสบการณ์ด้านธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (QSR) และธุกิจ FMCG มากกว่า 25 ปี ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของบริษัท โกลัค จำกัด เพื่อนำการขยายธุรกิจของซับเวย์ในประเทศไทย

“ดิฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้มีโอกาสในการผลักดันซับเวยให้เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในตลาด QSR ในประเทศไทย และในการนำประสบการณ์แบบซับเวย์ไปให้แก่ลูกค้าได้สัมผัสมากขึ้นผ่านทางช่องทางต่าง ๆ” คุณเพชรัตน์ อุทัยสาง กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลัด จำกัด กล่าว

สัญญาฉบับนี้นับเป็นสัญญาให้สิทธิการพัฒนามาสเตอร์แฟรนไชส์ฉบับที่ 16 ของซับเวย์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจตลอตหลายปีของแบรนด์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและผลักดันการเติบโตของธุรกิจในระดับสากล โดยจะส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนร้านซับเวย์ทั่วโลกให้มากขึ้นรวมทั้งสิ้นกว่า 9,000 ร้านต่อไป

โดยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนี้ ซับเวย์ยังคงมองหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการขยายเครือข่ายร้านอาหารในภูมิภาคอย่างไม่หยุดยั้ง จากเดิมที่มีจำนวนราว 4,000 ร้าน ให้มีจำนวนเพิ่มมากกว่า 7,000 ร้าน ภายใน 5 ปีข้างหน้า

โบรกฯ แนะนำ “ซื้อ”

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย รายงานว่า เรามีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยต่อข่าวดังกล่าว จากความชัดเจนในเรื่องการถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทยที่ออกมาอย่างเป็นทางการ โดยมีบริษัทที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์รับรองโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อ PTG เบื้องต้นเรามองว่าการถือสิทธิแฟรนไชส์ Subway จะช่วยเพิ่มความหลากหลายและต่อยอดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่บริษัทดำเนินการอยู่

คงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมายเดิม โดยอิงวิธีรวมส่วนธุรกิจ (SOTP) สิ้นปี 2567 ที่ 11 บาท เพื่อสะท้อนถึง การเข้าซื้อธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเช่าซื้อรถบรรทุกมือ และธุรกิจกำจัดขยะ โดยให้เป้าหมาย PBV ที่ 1 เท่า รวมทั้งปริมาณการขายน้ำมันและก๊าซในปี 2567 ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

อนึ่ง ร้านซับเวย์ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนระดับโลก ให้บริการแซนด์วิชทำสดทีละออร์เดอร์ แซนด์วิชแรป สลัด และเมนูโบวล์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าหลายล้านรายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ผ่านร้านสาขากว่า 37,000 ร้าน ในทุกวัน ๆ โดยบรรดาผู้ได้รับสิทธิในแฟรนไชส์ (franchisee) ของซับเวย์ ซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการร้านซับเวย์นั้น ได้แก่เครือข่ายผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการขนาดเล็กผู้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะส่งมอบประสบการณที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าในชุมชนท้องถิ่นของตน

ส่วน พีทีจี เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันชั้นนำในประเทศไทย ที่มีสมาชิกกว่า 21 ล้านคน ภายใต้ระบบนิเวศของ PTG Max World บริษัทได้พัฒนาสืบมาจนกระทั่งกลายมาเป็นธุรกิจน้ำมันครบวงจร โดยมีสถานีบริการพีทีจีมากกว่า 2,200 แห่ง และมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันมากกว่า 20%

บริษัททราบดีถึงความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าด้วยการขยายพอร์ตโฟลิโอการลงทุนไปยังธุรกิจ Nonoil ต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบำรุงรักษารถยนต์ ธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) และธุรกิจบริหารงานระบบและเครื่องมือ ซึ่งในปัจจุบันบริษัท touchpoint กว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ