ส่องเศรษฐกิจย้อนหลัง 5 ปี หลัง GDP ไทยปี’67 คาดโต 2.5%

ตลาดรถไฟ

เปิดสถิติเศรษฐกิจไทย 5 ปีย้อนหลัง หลังสภาพัฒน์คาดจีดีพีไทยปี 2567 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% พร้อมเผยปัจจัยเสี่ยงและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.5% ต่อปี และประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยคาดว่า GDP ไทยทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.0-3.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 2.5%) จากประมาณการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ 2.2-3.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 2.7%) เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันทางการค้าที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น และเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ รวมทั้งความผันผวนด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งนี้ได้พาย้อนชมสถิติจีดีพีไทยย้อนหลัง 5 ปี มีตั้งแต่ 2563-2567 ดังนี้

  • ปี 2563 ติดลบ 6.2% มูลค่า 15.63 ล้านล้านบาท
  • ปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.6% มูลค่า 16.18 ล้านล้านบาท
  • ปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.5% มูลค่า 17.37 ล้านล้านบาท
  • ปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.9% มูลค่า 17.92 ล้านล้านบาท
  • ปี 2567 เพิ่มขึ้น 2.5% มูลค่า 18.51 ล้านล้านบาท (ประมาณการ วันที่ 20 พ.ค. 67)

สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ได้แก่

1.ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มรถยนต์และเริ่มมีปัญหาสินเชื่อในภาคที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเป็นสภาพคล่องในการบริหารกิจการ ซึ่งธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงินจะต้องพิจารณาในมาตรการที่จะทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น

2.ความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตภาคการเกษตร โดยอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง และในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีปัญหาอุทกภัยจากภาวะลานีญา

ADVERTISMENT

3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ความเสี่ยงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักที่มีนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจจะเกิดขึ้น และความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลาย ๆ ประเทศในช่วงถัดไป โดยเฉพาะการที่สหรัฐใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งไทยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทุ่มตลาด

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญ

ADVERTISMENT

1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณไม่น้อยกว่า 90.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

2.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งยังมีความเสี่ยงจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจในระดับสูง

3.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร

4.การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ

5.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ต้องเฝ้าระวังการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ที่อาจกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าไทย