
จุลพันธ์ รมช.คลัง เผยรัฐบาลเตรียมศึกษานำเงินนอกงบประมาณออกมาใช้จ่าย หลัก 1 หมื่นล้านบาท หวังช่วยลดภาระงบประมาณรัฐ ยันไม่เกี่ยวข้องดิจิทัลวอลเลต
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการหารืออย่างหลากหลายในที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการนำเงินนอกงบประมาณมาใช้เสริม ไม่ใช่เพียงแต่พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะเม็ดเงินนอกงบประมาณมีจำนวนมาก
ขณะที่สำนักงบประมาณได้มีการชี้แจงว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่ก็พร้อมรับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อที่จะไปดูว่าในอนาคตจะสามารถดึงเงินนอกงบประมาณมาช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
“เงินนอกงบประมาณนั้น ยังไม่ได้มีการชี้เป้าชัดเจนว่าจะให้ไปดูส่วนไหนเป็นพิเศษ แต่ก็รู้กันดีว่าเงินนอกงบประมาณมีเป็นหลักล้านล้านบาท มันค่อนข้างเยอะ แต่ในรายละเอียดของเงินนอกงบประมาณนี้บางส่วนก็เป็นกองทุน หรืออะไรที่จะไปแตะไม่ได้ แต่ก็มีส่วนที่สามารถบริหารจัดการได้ หลาย ๆ ที่ หลาย ๆ ส่วนรวมกันก็หลัก 1 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ถ้าสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ก็จะมาช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณได้” นายจุลพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ยืนยันว่า แนวคิดการดึงเงินนอกประมาณออกมาใช้จ่าย ไม่เกี่ยวข้องกับการนำเงินมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 2568-2570) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเห็นชอบกรอบการคลังระยะปานกลางที่มีการปรับปรุงใหม่หลังรัฐบาลจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยเป็นการขาดดุลเพิ่มเติมทั้งหมด
ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะนั้น จะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 63-64% ซึ่งตัวเลขที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยนั้นไม่ได้น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
“การปรับกรอบการคลังนั้นเป็นไปตามจังหวะ เป็นขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อมีการปรับเพิ่มงบประมาณก็ต้องปรับกรอบการคลัง ไม่ปรับไม่ได้ โดยวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทนั้น จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มเล็กน้อย ประมาณ 0.5% ดีดขึ้นมานิดหน่อย แต่ไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด และตัวเลขทั้งหมดที่นำเสนอ ครม. นั้นก็อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนแผนการคลังระยะปานกลางก็ยังอยู่ในกรอบ ยืนยันว่าทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งหมด” นายจุลพันธ์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเรื่องนี้หากจะดำเนินการจริง ๆ มองว่า 2-3 สัปดาห์ก็สามารถสรุปได้ แต่หลัก ๆ ต้องอยู่ที่ฝ่ายนโยบายเป็นคนตัดสินใจมากกว่า