คลังสั่งสรรพากร ใช้เทคโนโลยีช่วยจัดเก็บรายได้ มองปี’67 ยอดไม่ถึงเป้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

จุลพันธ์ รมช.คลัง มอบนโยบายกรมสรรพากร ดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่งช่วยจัดเก็บรายได้เพิ่ม เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างรอแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มองภาพรวมจัดเก็บรายได้ปี’ 67 ไม่ถึงเป้า ยันไม่กระทบเสถียรภาพการคลัง

วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารกรมสรรพากรว่า สำหรับการมอบนโยบายในวันนี้ หลัก ๆ คือ การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เอกชนที่จะเข้าสู่ระบบฐานภาษี

ซึ่งได้หารือกันถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องพิจารณากลไกในการกระตุ้นที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นระยะสั้น ในช่วง 5 เดือนที่อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากรในการเร่งขยายฐานภาษี โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น Zero Tax Gap ในปี 2570 รวมถึงการเร่งปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้ง่ายขึ้น

“สัดส่วนตัวเลขการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ แนวทางหนึ่งคือการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หาหนทางในการขยายฐานภาษี รวมทั้งสร้างกลไกในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าการเสียภาษีแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร ภาษีที่ถึงรัฐแล้วท้ายที่สุดจะกลับไปถึงมือประชาชนได้อย่างไร สร้างกลไกและระบบในการยื่นแบบให้กับประชาชนที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

รวมถึงกระบวนการในการลดหย่อนภาษี ในระยะเวลาต่อไปอาจจะต้องมีการกำหนดกรอบเวลา กำหนดตัวชี้วัด เพื่อให้มีความชัดเจนว่าการลดหย่อนภาษีเพื่ออะไร ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจะเข้ามาช่วยลดภาระงบประมาณได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น งบประมาณในการจัดทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งตกปีละหลายแสนล้านบาทและขยายตัวขึ้นทุกปี” นายจุลพันธ์กล่าว

ADVERTISMENT

สำหรับการออกกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) ทางกรมสรรพากรก็รับโจทย์แล้ว ขณะนี้กําลังจะปรับปรุงให้มันเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
รวมถึงการสร้างจิตสํานึกให้กับประชาชน ได้เข้าใจว่ากลไกในการเสียภาษี จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร

“ยกตัวอย่างในต่างประเทศ มีคนยินดีที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ในคอมมิวนิตี้ที่เสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าเพื่อแลกกับสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิ่งอํานวยความสะดวกที่จะได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเองก็ควรจะต้องมีกลไกในการที่จะสร้างความชัดเจนว่า ภาษีที่ถึงมือรัฐบาลจะกลับถึงมือประชาชน” รมช.คลัง กล่าว

ADVERTISMENT

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร ต้องยอมรับว่า อาจมีบางกรมที่อาจจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เช่น กรมสรรพสามิต เป็นผลจากการดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมัน

ส่วนกรมสรรพากรเป้าหมายการจัดเก็บปีนี้ที่ 2.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน โดยจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเพื่อให้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างไร กรมจะต้องไปวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้การจัดเก็บได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น

“สรรพสามิตหลัก ๆ ที่ทำให้การจัดเก็บภาษีพลาดเป้า เนื่องจากมาตรการลดภาษีน้ำมัน แต่มันเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งหากจะทำเรื่อย ๆ ก็สามารถทำได้ แต่ยืนยันว่าไม่มีผลต่อการดำเนินการ และไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ยังสามารถบริหารจัดการได้” นายจุลพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการแบ่งงาน ที่ได้รับผิดชอบให้ดู 3 กรมภาษีว่า นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แบ่งงานตามฟังก์ชั่นของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องทรัพย์สิน เช่น สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ และกรมธนารักษ์

ส่วนกรมภาษีเป็นเรื่องของการจัดเก็บ จึงอยู่ในความรับผิดชอบเดียวกัน เป็นการแบ่งงานเพื่อให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนงานของกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าข้าราชการกระทรวงการคลังมีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในการปฏิบัติงาน ตนจึงไม่มีความเป็นห่วงเรื่องการทำงาน เพราะหลายนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาลก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจำนวนมากแล้ว

อย่างไรก็ดี ในส่วนความคืบหน้าของการพิจารณานำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ล่าสุดได้นำข้อมูลส่งกลับไปยังฝ่ายนโยบายพิจารณา โดยจะมีการประชุมเพื่อหารือแนวทางร่วมกันอีกครั้ง แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาในขณะนี้ โดยเรื่องนี้มองว่า หากฝ่ายนโยบายตัดสินใจดำเนินการ ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เพราะมีกลไกเดิมที่รองรับอยู่แล้ว