“ลีสซิ่ง” ผนึก “สมาคมแบงก์” ขอทบทวน พ.ร.บ.รับผิดชำรุดบกพร่อง

leasing

ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น โดยกลุ่มธุรกิจเช่าชื้อ ภายใต้สถาบันการเงินต่างกังวลถึงผลของการบังคับใช้ที่ครอบคลุมไปถึง ความรับผิดชอบ ของธนาคารต่อความชำรุดของสินค้าที่ซื้อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้ง ๆ ที่การซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นระหว่าง “ผู้ซื้อ” กับ “ผู้ขาย” ขณะที่ธนาคารเป็นเพียงผู้อำนวย “สินเชื่อ” ให้กับลูกค้าเท่านั้น

Lemon Law

ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. ตราขึ้นภายใต้หลักการที่ว่า จะให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามที่ได้ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันยังไม่ให้ความคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายอย่างชัดเจนและเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่ผู้ซื้อไม่อาจพบความชำรุดบกพร่องได้ในเวลาซื้อขาย หรือเวลาส่งมอบ แต่มาพบความชำรุดบกพร่องในภายหลังจากที่มีการซื้อขายไปแล้ว

ทั้งนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขาย ส่วนที่ 2 ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในมาตรา 472-474 มีหลักการที่บัญญัติความรับผิดเพื่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง “เป็นการทั่วไป” ในเรื่องผู้ขายต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง มีการกำหนด “ข้อยกเว้น” ของผู้ขายที่ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในความชำรุดบกพร่อง หากผู้ซื้อเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบสินค้า และการกำหนดอายุความในการฟ้องร้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่อง

นอกจากนี้ยังมี กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 แต่ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้จะนำมาใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ ก็ต่อเมื่อมีการฟ้องร้องเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค หรือมีการฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการจัดทำ พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือ Lemon Law มาตั้งแต่ปี 2557 โดย คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้เสนอร่างแรกและ ครม.มีมติอนุมัติในหลักการในปลายปี 2560 ก่อนที่จะส่งให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาร่างต่อไป

แบงก์ต้องรับผิดชอบร่วม

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อ ในส่วนของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบกธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์และจักรยานยนต์ เนื่องจากในร่าง พ.ร.บ.กำหนดว่า การซื้อสินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ซื้อในการที่จะเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น เช่นเดียวกับผู้ขาย

โดยในส่วนของ “รถยนต์” มีการกำหนดว่า ภายใน 1 ปีหรือการใช้งานวิ่งในระยะทางไม่เกิน 10,000 กิโลเมตร หากพบความชำรุดหรือบกพร่อง ผู้ขายหรือผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะมี 3 ทางให้เลือก ได้แก่ 1) ซ่อมแซมสินค้าให้เสมือนสภาพเดิม กรณีที่ไม่สามารถซ่อมให้ได้เหมือนสภาพเดิม จะมี 2 วิธี คือ 1) เปลี่ยนสินค้าใหม่ หรือรถยนต์คันใหม่ กับ 2) การให้ส่วนลดกับผู้ซื้อ เช่น กรณีแอร์เสีย ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ผู้ขายอาจจะตกลงราคาส่วนลดให้กับผู้ซื้อ เช่น 50,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ระหว่างทางในการซ่อมแซมการชำรุดบกพร่อง ร่าง พ.ร.บ.กำหนดผู้ขายหรือผู้ให้เช่าซื้อ จะต้อง “ลดค่างวด” หรือ “เลื่อนชำระค่างวด” ออกไปให้กับผู้ซื้อ จนกว่าการซ่อมแซมรถยนต์จะเสร็จสิ้น

Advertisment

ขณะที่สถาบันการเงิน/ธนาคารผู้ให้เช่าซื้อ เป็นบุคคลที่ 3 ที่ทำหน้าที่ในการอำนวยสินเชื่อเท่านั้น แต่จะเห็นว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ “ธนาคารรับผิดชอบร่วมด้วยในการแบกรับต้นทุนภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากสินค้าชำรุดบกพร่อง” แต่ในความเป็นจริงถือว่า ธนาคารเป็นผู้เสียหายเช่นกันจากต้นทุนที่เกิดขึ้น และสูญเสียประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ย หรือค่าเช่าซื้อที่ควรจะได้รับ

ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะเห็นว่าสถาบันการเงิน/น็อนแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ก็จะต้องมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หรืออาจจะเห็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีต้นทุนรับฝากเงินและต้นทุนการบริหารจัดการด้านดำเนินงาน รวมถึงอาจมีแนวคิดการออกประกันประเภทใหม่ที่รับประกันเฉพาะเรื่อง “ชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่น ราคาเบี้ย 5,000-10,000 บาท ซึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนย้อนกลับไปให้ผู้บริโภค หรือผู้ซื้อเพิ่มเติม

Advertisment

“พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า อาจจะเป็นการสร้างแรงจูงใจผิด ๆ ให้กับระบบและกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ เพราะแบงก์เองอาจจะหลีกเลี่ยงหรือเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หากต้องเข้าไปร่วมแบกความรับผิดชอบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้มีการเสนอความคิดเห็นให้ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว” นายเตชินท์กล่าว

เพิ่มคำนวณความรับผิดชอบ

ขณะที่ นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในฐานะประธานคณะทำงานสินเชื่อรถยนต์ สมาคมธนาคารไทยได้รวบรวมความเห็นจากสมาชิกกลุ่มธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มองตรงกันว่า ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารจะปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกค้าอยู่แล้ว เพื่อช่วยผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองและเยียวยาหากสินค้าที่ซื้อชำรุดบกพร่อง

การซื้อขายสินค้านั้นเกิดขึ้นระหว่าง “ผู้ซื้อและผู้ขาย” โดยธนาคารไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือใช้รถยนต์ ธนาคารจะทำหน้าที่เพียงการอำนวยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในการซื้อรถยนต์เท่านั้น หรือเปรียบเทียบ เช่น กรณีธนาคารให้สินเชื่อบ้าน และบ้านเกิดหลังคารั่วในระหว่างรับประกัน ผู้ซื้อบ้านก็จะไปติดต่อให้โครงการซ่อมแซมแก้ไข และยังคงผ่อนบ้านต่อไป

ดังนั้น การกำหนดให้ธนาคารต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า จึง “เสมือนให้ธนาคารแบกรับหน้าที่ของความผิดพลาดในการผลิตสินค้า” ซึ่งจะไม่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เช่น ผู้ฝากเงิน หรือผู้ถือหุ้นในระยะยาว และอาจส่งผลต่อการจำกัดความเสี่ยงในการให้บริการสินเชื่อ จนนำไปสู่ภาวะการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของผู้บริโภค และส่งผลลบต่อผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์ด้วย

“ร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมามีเป้าหมายมุ่งเน้นที่จะให้ความคุ้มครองและกำหนดแนวทางการเยียวยา แต่เกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การไม่ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในระยะยาว และมองอีกด้านคือ หากสินค้าชำรุด ธนาคารผู้ให้สินเชื่อย่อมตกเป็นผู้เสียหายด้วย เช่นเดียวกับกรณีบ้านที่ธนาคารให้สินเชื่อ เกิดมีปัญหาจนเสียหาย ก็แสดงว่าหลักประกันของธนาคารเสียหายร่วมไปด้วยกันกับลูกค้าเจ้าของบ้าน กรณีของรถยนต์ก็เช่นกัน

ความรับผิดชอบต่อการชำรุดของสินค้าที่ซื้อใหม่ ก็กำหนดอยู่ใน Warranty ของผู้ผลิตรถยนต์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการรับประกันในสินค้าของผู้ผลิตที่มีให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ ร่าง พ.ร.บ.นี้มีประโยชน์ที่ช่วยสร้างความชัดเจนในการคุ้มครองและเยียวยาตามความรับผิดชอบที่ผู้ผลิตให้ Warranty แก่ผู้ใช้รถยนต์ จึงควรกำหนดบทบาทหน้าที่ดังกล่าวให้ถูกฝาถูกตัวด้วย” นายธีรชาติกล่าว

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์และทรานส์ฟอร์เมชั่น ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ยอมรับว่า กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อภายใต้ธนาคารค่อนข้างมีความกังวล จึงได้มีการเสนอความคิดเห็นผ่านไปยัง สมาคมธนาคารไทย (TBA) อย่างไรก็ดี มองว่ากฎหมายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเจตนาที่ดีต่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในราคาสูง ให้สามารถเรียกร้องได้ แต่ในโหมดผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้เป็นคนซื้อสินค้า แต่เป็นคนอำนวยสินเชื่อ ซึ่งอยู่ในสถานะเป็นผู้เสียหายเช่นกัน จึงกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของผู้ให้สินเชื่อและผู้รับสินเชื่อ

โดยจะเห็นโครงสร้างของราคา หรือโครงสร้างการให้สินเชื่อเปลี่ยนไป จะต้องมีการคิดคำนวณใหม่ทั้งหมด ซึ่งจากเดิมสถาบันการเงินจะพิจารณาในเรื่องของความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ และความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ในอนาคตจะต้องคำนวณปัจจัยเรื่องการรับผิดชอบเข้าไปรวมด้วย ซึ่งจะสะท้อนไปยังต้นทุนการกู้ยืมหรือดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ส่วน นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด และอุปนายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ยอมรับว่า ผลกระทบในส่วนของรถจักรยานยนต์และรถยนต์จะแตกต่างกัน โดยรถจักรยานยนต์อาจจะกระทบน้อยกว่ารถยนต์ เนื่องจากมูลค่าของรถไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ ส่วนสถาบันการเงิน และไฟแนนซ์ ทุกแห่งอาจจะต้องมีการปรับตัวและปรับนโยบายของตัวเอง โดยอาจทบทวนกระบวนการในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น เช่น จ้างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถมาช่วยประเมินก่อนอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งคล้ายกับการซื้อคอนโดมิเนียมที่มีการจ้างบุคคลที่ 3 เข้ามาช่วยดูและประเมินก่อน เป็นต้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีบทบาทอำนวยสินเชื่อ จึงไม่ได้เชี่ยวชาญด้านตรวจเช็กคุณภาพสินทรัพย์มากนัก

“เชื่อว่าทุกไฟแนนซ์อาจจะต้องปรับ Policy ของตัวเอง เพื่อรองรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งบางอย่างอาจจะเป็นต้นทุนเพิ่มให้กับเรา เช่น การให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเช็กลิสต์ และอาจส่งผลต่อไปยอดการปฏิเสธที่อาจจะเพิ่มขึ้น รวมถึงของ Moral Hazard เช่นเดียวกับ คืนรถจบหนี้”