
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ปัจจัยทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” กลายเป็น “ความเสี่ยง” ที่สำคัญสำหรับทุกประเทศในโลก การกระทบกระทั่งที่เกิด แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นนำไปสู่ “สงครามโลก” แต่ก็สร้างผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ เป็นเรื่องสำคัญ
ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการประชุมประจำปี 2567 หัวข้อ “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย” ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น และมุมมองจากภาคส่วนต่าง ๆ นำไปประมวลสำหรับจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมถึงเริ่มต้นกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14
โจทย์ใหญ่ “ภูมิรัฐศาสตร์”
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics เป็นเรื่องการสร้างพลังอำนาจระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยหากเป็นทางการทหาร ทางบวกก็เป็นการสร้างความร่วมมือ สร้างความมั่นคงทางการทหารเพื่อรับมือการก่อการร้าย ส่วนทางลบก็เป็นเรื่องการรุกรานกัน ขณะที่มุมทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน เห็นได้จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่จัดทำกันขึ้นมา เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง แต่ขณะเดียวกันก็มีการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นด้วย
ส่วนทางด้านเทคโนโลยีก็มีทั้งความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นเชิงบวก และเชิงลบที่เป็นการปิดกั้น เพื่อไม่ให้ประเทศอื่นพัฒนาขึ้นมาทัดเทียม
ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็มีหลายระดับ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ระดับความขัดแย้งสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน และเพิ่มมากขึ้นในช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอีก
“ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในโลกใบนี้ ในหลากหลายมิติ แล้วแต่ละเรื่องก็จะกระทบกับประเทศไทยทั้งนั้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็ก ฉะนั้นในช่วงถัดไป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก็ยังคงดำรงอยู่ การกีดกันทางการค้า สงครามทางการค้าก็ยังคงอยู่ เรื่องพลังงานก็ยังมีปัญหา นอกจากนี้ยังมีความสูญเสียของระบบนิเวศ ทรัพยากร”

แย่งดึงอุตฯใหม่-ชิงแรงงาน
สิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ก็คือ การเลือกตั้งในสหรัฐ ซึ่งแคนดิเดตประธานาธิบดีทั้งคู่ แม้จะมีนโยบายแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ นโยบายกับจีน ที่ยังดำรงอยู่ ดังนั้น สงครามการค้า การกีดกันทางด้านเศรษฐกิจ การกีดกันทางเทคโนโลยี ก็คงจะดำรงอยู่ไปอีกระยะ แต่ก็เป็นโอกาสของไทยเช่นกัน
“ตอนนี้เศรษฐกิจของโลก อยู่บน 3 จุดหลัก ๆ คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ดังนั้น เมื่อแต่ละประเทศมีการออกมาตรการมากีดกันทางการค้า และตอบโต้กันไปมา ทำให้ภาคธุรกิจที่เคยอยู่ในจีน เริ่มกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ซัพพลายเชนต่าง ๆ เริ่มกลับไปสร้างฐานที่มั่นในประเทศต้นทาง สร้างฐานการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน”
ทั้งนี้ โอกาสของประเทศไทยก็มี ในการจะดึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศเข้ามาตั้งฐานในไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็มี 2-3 โรงงานแล้ว และตอนนี้ก็พยายามดึงเข้ามาให้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือแรงงานทักษะสูง ก็เป็นสิ่งที่มีการช่วงชิงกัน โดย Global Talent Competitiveness Index ไทยอันดับอยู่ที่ 79 ถือว่ากลาง ๆ และมีความต้องการแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีมาตรการในการจะดึงคนเหล่านี้เข้ามา ขณะที่แรงงานอพยพจากเมียนมาที่ต้องหารือกันว่าจะให้มาเป็นแรงงานขั้นต้นได้หรือไม่
จัดการ “อาหาร-พลังงาน-น้ำ”
นายดนุชากล่าวว่า ไทยยังต้องเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหาร เพราะสงครามและการกีดกันทางการค้า ทำให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหาร และความมั่นคงทางอาหารของโลก ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกอาหารด้วย เช่นเดียวกับด้านพลังงานที่จะต้องเร่งสร้างความมั่นคงเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต หากสามารถเจรจาพื้นที่ทับซ้อนให้ได้ข้อสรุปที่ดี ก็จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคได้ นอกจากนี้ การแย่งชิงทรัพยากรน้ำก็เป็นอีกปัญหาที่จะต้องบริหารจัดการ
มหาอำนาจ 2 ขั้วมีจุดอ่อน-จุดแข็ง
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงกันวันนี้ คือ ระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จากหลังสงครามโลกที่สหรัฐเป็นคนจัดระเบียบโลก แต่ปัจจุบันมีจีนขึ้นมา ซึ่งสองประเทศเป็นปรปักษ์ต่อกัน โดยในด้านศักยภาพทางการทหาร สหรัฐมีฐานทัพ มีข้อตกลงทางการทหารอยู่กับ 56 ประเทศ ขณะที่จีนมีอยู่กับเกาหลีเหนือประเทศเดียว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันจีนคุมทางด้านการค้าได้เกือบทั้งโลก โดยมี 128 ประเทศที่ค้าขายกับจีนมากกว่าสหรัฐ และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจสูง ทำให้เครือข่ายด้านเศรษฐกิจเหนือกว่าสหรัฐค่อนข้างมาก
“นี่คือ ภูมิรัฐศาสตร์วันนี้ ซึ่งสหรัฐกลัวจีนมาก โลกถึงมีปัญหา เพราะประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 กับ 2 เขาคุยกันไม่รู้เรื่อง”
ทั้งนี้ มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีการลงทุนสูงกว่าการบริโภค ดังนั้น จะ “ผลิตเกินความต้องการ” แน่นอน และจะยิ่งผลิตมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะรัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่จะหันมาผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูงแทน ตามคำกล่าวของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งแนวทางนี้ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นไม่ได้ในระยะสั้น หากไม่ส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ
สินค้าเกษตรโอกาสของไทย
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ดี จีนยังพยายามหาประเทศที่จะสามารถเป็นตัวเชื่อมให้เขานำสินค้าส่งเข้าไปขายในตะวันตกได้ เช่น ฮังการี เม็กซิโก สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น ขณะที่การค้ากับไทยนั้น ทางสถานทูตจีนเคยมีแถลงการณ์ว่า จีนไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย ดังนั้นหากมีการเกินดุลมาก ไทยก็น่าจะมีมาตรการในการลดการเกินดุลนั้นได้ ขณะเดียวกันก็มีการบอกว่า รัฐบาลจีนเองก็สนับสนุนให้ไทยเข้มงวดในการกำกับดูแล ดังนั้นไทยก็สามารถเข้มงวดได้ หรือหากมีจีนเทาเข้ามามาก ไทยก็บังคับใช้กฎหมายได้
“แล้วเราก็ทำตัวเป็นตัวเชื่อมได้เหมือนกัน ในเมื่อสิงคโปร์ ออสเตรเลียทำได้ คือ Positioning ของเราเอง มันสำคัญ ในภาวะแบบนี้ ซึ่งจีนต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลิตได้ไม่เพียงพอ อย่างเช่น ถั่วเหลืองที่ยังต้องยอมพึ่งสหรัฐ เป็นต้น โดยจุดแข็งของเราคือ เราเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น อย่างรถอีวีเราจะไปแข่งได้เหรอ ผมว่าอาหารมีโอกาส”

ไทยต้องวางจุดยืนให้เหมาะสม
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สุดท้ายประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ ไม่ว่าใครจะชนะก็แย่หมดสำหรับไทย เพียงแต่ว่าหาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีจะแย่กว่า เพราะทำให้คาดการณ์อะไรไม่ได้ และจะมีการตั้งกำแพงภาษี ไม่เฉพาะกับจีน แต่ประเทศคู่ค้าก็โดนด้วย
นอกจากนี้ สหรัฐมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะที่สูง แถมยังจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ระดับสูงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็ตาม และจะกระทบกับทั้งโลก อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งวิเคราะห์ว่า มหาอำนาจที่เริ่มตกต่ำ จะเริ่มจากการที่มีหนี้สาธารณะมากเกินไป จนกระทั่งต้องจ่ายงบฯ ชำระดอกเบี้ยสูงกว่างบฯกลาโหม ซึ่งปัจจุบันสหรัฐถึงจุดดังกล่าวพอดีในปีนี้
“ทั้งจีนและสหรัฐต่างก็มีจุดอ่อน และจุดแข็งที่ทำให้เราประเมินได้ยากมาก ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้น ต้องประเมินให้ดี และประเทศไทยต้องมีจุดยืนที่เหมาะสมที่สุด จะทำอย่างไรให้เราอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบที่สุด” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
แนะธุรกิจไทยป้องกันความเสี่ยง
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า Geopolitics มีหลายมิติ ซึ่งเราหนีผลกระทบไม่พ้น เพราะประเทศไทยมีการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยว รวมแล้ว 70% ของ GDP ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน ไม่ว่าดอกเบี้ยของสหรัฐ หรือดอกเบี้ยของไทย ล้วนมีต้นตอมาจากปัญหา Geopolitics เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงาน ขณะที่ผู้ที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น
โดย Geopolitics เป็นสงครามที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ซึ่งประเทศไทยก็มีโอกาสในหลาย ๆ เรื่อง จากการไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง และภูมิภาคอาเซียนก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการกระจายการค้า การลงทุน อันเป็นผลพวงจาก Geopolitics
“ไทยต้องเร่งสร้าง Ecosystem เพื่อฉกฉวยโอกาสจากการเป็น Conflict-free Country ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง”
ไทยต้องวางตัวเป็นกลาง
นายดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ แนะนำ 1.ไทยวางตัวเป็นกลางแบบยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ ไม่เลือกข้าง 2.นโยบายเสริมสร้างแกนนอก ปรับตัวเพื่อให้ไทยอยู่รอด ด้วยการขยายอำนาจ ใช้นโยบายต่างประเทศเชิงรุก มีสถานะอันดับกลาง ถ่วงดุลในบางเรื่องให้มหาอำนาจเกรงใจ 3.นโยบายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางพื้นทวีปและพื้นที่สมุทรอาเซียน เพราะมีทำเลเหมาะที่สุด และควรปกป้องผลประโยชน์การค้าการลงทุนทางทะเลอันดามัน อ่าวไทย เชื่อมต่อไปยังแปซิฟิก
ยกระดับความมั่นคงอาหาร-พลังงาน
นายวิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒน์ กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน โดยด้านอาหารนั้น ควรเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เป็นแบบมีเงื่อนไข พร้อมให้ความรู้และหลักประกันความเสียหาย เพื่อจูงใจให้มีการปรับใช้เทคโนโลยี และควรเพิ่มที่ปรึกษาทางการเกษตร
ส่วนด้านพลังงาน ควรคำนึงถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต ควรเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานหมุนเวียน