เจาะพฤติกรรมลูกค้า ใช้บริการร้านอาหาร

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องตรึงราคาอาหารเอาไว้ แล้วหันมาเพิ่มรายได้จากการนำเสนอเมนูอาหารใหม่ ๆ ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารต่อคนต่อมื้อให้เพิ่มสูงขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2560 น่าจะมีมูลค่า 390,000-397,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2-4 จากในปี 2559 โดยแบ่งเป็นมูลค่าเช่นร้านอาหาร 119,000-122,000 ล้านบาท และมูลค่าร้านอาหารทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก 271,000-275,000 ล้านบาท

การแข่งขันที่ร้อนแรงในธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการต้องติดตามพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารของผู้บริโภค เพื่อปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับผู้บริโภค โดยเทรนด์การใช้บริการร้านอาหารที่น่าสนใจได้แก่

1.ลูกค้ารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น จากเทรนด์รักสุขภาพทำให้ผู้คนใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช การลดน้ำตาล เกลือ และไขมัน การเลือกวัตถุดิบที่ไม่ใช้สารเคมีและวัตถุสังเคราะห์ เป็นต้น ส่งผลให้อาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารของคนไทยในวงกว้างมากขึ้น โดยคนไทยส่วนใหญ่มีการซื้ออาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และบางส่วนมีการซื้อเป็นประจำทุกวัน สะท้อนโอกาสสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในการนำเสนอเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ รองรับการขยายตัวของกลุ่มลูกค้าที่เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ยังยินดีจ่ายค่าอาหารที่สูงขึ้น สำหรับทางเลือกในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

2.ลูกค้าใช้บริการ Delivery อาหารมากขึ้น การใช้บริการจัดส่งอาหาร หรือ Delivery มีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีข้อจำกัดด้านเวลา ต้องการความสะดวกสบาย รวมถึงต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด โดยความสะดวกในการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารพัฒนาขึ้นเอง ตัวกลางให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ รวมถึงตัวกลางให้บริการรับซื้อหรือจัดส่งอาหารและสินค้าต่าง ๆ มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนใช้บริการจัดส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น และน่าจะช่วยหนุนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้จากบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าตลาดบริการ Delivery อาหารโดยผู้ประกอบการร้านอาหารในปี 2560 น่าจะมีมูลค่า 26,000-27,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11-15 จากในปี 2559

3.ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย และมีทางเลือกในการรับประทานอาหารหลากหลาย จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ผู้คนประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง และรับประทานอาหารนอกบ้านเฉพาะมื้ออาหารที่จำเป็น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ทั้งการซื้ออาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทานจากผู้จำหน่าย เช่น แผงลอยทั่วไป ร้านค้าสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น รวมถึงมีทางเลือกในการประกอบอาหารเอง ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารต่อคนต่อมื้อลดลง รวมถึงมีความถี่ในการใช้บริการร้านอาหารก็ลดลงตามไปด้วย ซึ่งกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ หรือประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้การปรับรูปแบบการบริหารจัดการร้านอาหารให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ได้อย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร