
วิจัยกรุงศรี เตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 จากเดิมอยู่ที่ 2.4% หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3% ออกมาดีกว่าคาด อานิสงส์การใช้จ่ายภาครัฐ-การส่งออก ชี้มีสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นที่ขยับดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ระบุว่าจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 เติบโตดีกว่าคาดที่ 3.0% YOY และ 1.2% QOQ ทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดไว้ที่ 2.4% สภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัว 3.0% (นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 2.4% และ 2.3% YOY ตามลำดับ) เทียบกับขยายตัวที่ 2.2% ใน 2Q67
โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1.การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ (+25.9%) ที่กลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส 2.การส่งออกสินค้า (+8.3%) ฟื้นตัวจากความต้องการในบางกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 3.การส่งออกบริการ (+21.9%) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
และ 4.การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว (+3.4%) แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง (-2.5%) ล่าสุดสภาพัฒน์ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ 2.6% (เดิมคาด 2.5%) และคาดการณ์ปี 2568 เติบโตที่ 2.3-3.3%
สภาพัฒน์รายงาน GDP ใน 3Q67 ที่ปรับผลของฤดูกาลออกขยายตัวที่ 1.2% QOQ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดที่ 0.8% และ 0.7% ตามลำดับ และสูงกว่า 0.8% ใน 2Q67 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GDP เติบโตอยู่ที่ 2.3% YOY
ล่าสุดวิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 2.4% โดยประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจาก 1.แรงส่งการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่อง
2.ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น หนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน (ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 28.8 ล้านคน) 3.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกลุ่มเปราะบาง และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งทางการกำลังเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อใช้ในปลายปีนี้จนถึงในปีหน้า
และ 4.ผลของฐานต่ำในปีก่อน โดย GDP ใน 4Q66 เติบโตเพียง +1.7% YOY เนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านรัฐบาลเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเพิ่มเติม ในเดือนตุลาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สู่ระดับ 56.0 จากเดือนก่อนที่ 55.3 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.1 จาก 87.1 ในเดือนกันยายน
โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลายลง มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง มาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้หลังจาก ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25%
แม้ความเชื่อมั่นจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่การฟื้นตัวยังมีเปราะบาง สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5 (ปี 2562) ขณะที่โมเมนตัมของการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น
ซึ่งล่าสุดรัฐบาลระบุเตรียมพิจารณาจะแจกเงิน 10,000 บาท สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลต อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ
เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งกดดันกำลังซื้อของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของบางอุตสาหกรรมที่ลดลง และการลงทุนที่ยังอยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ที่อาจสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกรวมถึงไทย