
ไทยรีประกันชีวิต กางแผนปี 2568 ก้าวสู่ “Road to Quality” ปั้นพอร์ตคุณภาพขับเคลื่อนการเติบโต ต่อยอดกลยุทธ์ “ซ่อม-สร้าง” ปรับเงื่อนไขการรับประกันภัยต่อให้สอดคล้องเคลมสินไหมที่เพิ่มสูง ยกเลิกสัญญาที่ไม่ทำกำไรในระยะยาว เผยปี 2567 รายได้เบี้ยประกันภัยต่อโต 35% แตะ 4,451 ล้านบาท ยอมรับ Medical Inflation เป็นปัจจัยท้าทายกระทบคุณภาพการเคลมสินไหมประกันสุขภาพ
นายวิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจประกันชีวิตได้พิจารณาปรับเบี้ยประกันสุขภาพกลุ่มขึ้นเฉลี่ย 30% พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการขาย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสช่องทางการขายใหม่ ๆ นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาบริการ และปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้ครอบคลุมและสอดรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันในทุกกลุ่มเป้าหมาย
ส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตปี 2568 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2567 ซึ่งบริษัทตั้งเป้าก้าวสู่ “Road to Quality” ปั้นพอร์ตคุณภาพ ขับเคลื่อนการเติบโตแข็งแกร่ง ผลักดันอัตราค่าใช้จ่ายรวม (Combined Ratio) กลับมายืนอยู่ที่ระดับ 100%
นับเป็นอีกขั้นในการต่อยอดกลยุทธ์ “ซ่อม-สร้าง” ที่ได้เร่งปรับพอร์ตให้เกิดความสมดุลในการรับประกันทุกประเภท ทั้งประกันสุขภาพรายบุคคล และประกันกลุ่ม เป็นต้น พร้อมปรับเงื่อนไขการรับประกันภัยต่อ ให้สอดคล้องอัตราสินไหมทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพิจารณายกเลิกสัญญาที่ไม่ทำกำไรในระยะยาว ภายใต้การคุมเข้มกระบวนการพิจารณารับประกันภัย และบริหารความเสี่ยง ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อควบคุมคุณภาพผลการรับประกันภัยให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่รับได้
นายวิพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2567 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยต่อรับเพิ่มขึ้น 32% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แตะ 4,559 ล้านบาท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 4,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% ตามการเติบโตของตลาดประกันสุขภาพรายบุคคลและประกันกลุ่มเป็นสำคัญ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวม เพิ่มขึ้นราว 41% อยู่ที่ 4,502 ล้านบาท จากค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น 1,244 ล้านบาท ตามการเติบโตของเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่ารักษาพยาบาล (Medical Cost Inflation) ของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ที่มีการปรับขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรม ซึ่งสูงเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยประกันที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าบำเหน็จที่เพิ่มขึ้น 141 ล้านบาท ตามการเติบโตของเบี้ยประกัน ในไตรมาส 4/2567
บริษัทสามารถมีผลประกอบการที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่เนื่องด้วยมี Major Claim เกิดขึ้น 2 ราย จากการประกัน Credit Life ซึ่งกระทบกับสินไหมที่บริษัทรับประกันต่อมูลค่า 50 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2567 บริษัทมีผลขาดทุนอยู่ราว 85 ล้านบาท และ Combined Ratio ขยับมาอยู่ที่ระดับ 104.1%
“Medical Inflation ที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย ต่อการบริหารคุณภาพการเคลมสินไหมประกันสุขภาพ แต่จากกลยุทธ์ที่บริษัทได้เร่งดำเนินการ ทั้งปรับพอร์ตให้มีความสมดุลในทุกประเภท การปรับเงื่อนไขรับประกัน ตลอดจนยกเลิกสัญญาที่ไม่ทำกำไร ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอการเติบโต แต่จะเป็นกลยุทธ์ที่จะรักษาความเสี่ยงของความผันผวนจากการเคลม เพื่อให้บริษัทกลับมามีผลประกอบการอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นายวิพลกล่าว