กยศ.ชี้คนแห่คืนหนี้ปีนี้พุ่ง หลังกระแส “ครูวิภา”

กยศ. จับมือตลท. เซ็นเอ็มโอยู หวังส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินแก่ผู้กู้ยืมชำระหนี้ หลังเกิดข่าวเบี้ยวหนี้ กยศ. ส่งผลให้ปี 2561 มีลูกหนี้ กยศ.เข้ามาชำระหนี้มากขึ้น โดยชำระ 2.6 หมื่นล้านบาท จากปกติจะชำระเฉลี่ย 5,000 ล้านบาท/ปี

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน” กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงิน แก่บุคลากร ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และศิษย์เก่ากยศ. รวมถึงการสนับสนุนการวางแผนการใช้จ่ายเงิน สร้างวินัยการออม ทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนการวางแผนชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนตามกำหนด

สำหรับสถานะการดำเนินงานของ กยศ. ในปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศ จำนวน 5.4 ล้านราย คิดเป็นงบประมาณให้กู้ยืมกว่า 5.7 แสนล้านราย ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงกำลังการศึกษาหรืออยู่ในช่วงปลอดหนี้ จำนวน 1 ล้านราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น จำนวน 800,000 ราย ผู้กู้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จำนวน 50,000 ราย นอกจากนี้ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้จำนวน 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมจำนวน 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยผู้กู้ที่ชำระหนี้ปกติ จำนวน. 1.4 ล้านราย นอกจากนี้ผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2.1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีจำนวน 1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มถูกดำเนินคดีจำนวน 1.1 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท

“จากกรณีที่มีข่าวเบี้ยวหนี้ กยศ. ส่งผลให้ในปี 2561 มีลูกหนี้กยศ.เข้ามาชำระหนี้มากขึ้น โดยชำระ 2.6 หมื่นล้านบาท จากปกติจะชำระเฉลี่ย 5,000 ล้านบาท/ปี” นายชัยณรงค์กล่าว


อย่างไรก็ตาม ทาง กยศ.เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่มีจิตสำนึกดีและต้องการชำระหนี้มีความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและมีวินัยทางการเงินมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับสังคมไทยโดยรวมและเป็นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน