ปิดฉาก ปรส. 16 ปี ล้างหนี้ 6 แสนล้าน

หลังวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ที่นำไปสู่การล้มของสถาบันการเงินไทยระเนระนาด บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถูกระงับการดำเนินกิจการ รวม 58 แห่ง

นำไปสู่การประกาศใช้พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 จัดตั้ง “องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” หรือ “ปรส.”

มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับ 56 ไฟแนนซ์ ดังนี้ 1) แก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ 2) ช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และ 3) ชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้

ปรส.ได้ดำเนินการพิจารณาแผนการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และให้ความเห็นชอบแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะและดำเนินกิจการ 2 แห่ง คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเมนท์ ส่วนที่เหลืออีก 56 แห่ง ต้องระงับกิจการถาวร และดำเนินการชำระบัญชี

สุดท้ายแล้ว ยอดหนี้ทั้งหมดที่ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระ มีจำนวนทั้งสิ้น 629,291 ล้านบาท ซึ่งจนถึงปัจจุบัน พบว่าสามารถติดตามคืนเจ้าหนี้ได้แค่กว่า 14% เท่านั้น

เมื่อ ปรส.เสร็จสิ้นภารกิจนำ 56 ไฟแนนซ์เข้าสู่กระบวนการล้มละลายครบทุกบริษัท ในเดือนเมษายน 2545 กระทรวงการคลังจึงเสนอ ครม.มีมติเห็นชอบให้ “ยุบเลิก” องค์กร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2545 และดำเนินการชำระบัญชี ปรส.ต่อไป

จากวันนั้นถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 รวมเวลาเกือบ 16 ปี คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของ ปรส. ได้ดำเนินการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว ทางกระทรวงการคลังจึงได้นำเรื่องเสนอ ครม. รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานการชำระบัญชีที่เสร็จสิ้นของ ปรส. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา

โดยกระทรวงการคลังรายงานสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1.การจัดการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่พนักงานของ ปรส. ที่ยังปฏิบัติงานอยู่หลังวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติยุบเลิก ปรส. จำนวน 18 คน โดยได้เลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยพนักงาน

2.การติดต่อชำระหนี้หรือยื่นคำทวงหนี้ต่อคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของ ปรส. พบว่า มีเจ้าหนี้จำนวน 22 ราย และลูกหนี้ จำนวน 1 ราย ซึ่ง ปรส.ได้จัดการใช้หนี้เงินเสร็จสิ้นไปตามมาตรา 1253 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

3.การบริจาคทรัพย์สินของ ปรส. แทนการจำหน่ายก่อนการยุบเลิกและชำระบัญชีของ ปรส. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2545 คณะกรรมการ ปรส.ได้ประมูลขายทรัพย์สินของ ปรส.ที่ไม่ได้ใช้งาน และได้บริจาคทรัพย์สินให้ส่วนราชการที่แจ้งความจำนงขอรับบริจาครวม 7 แห่ง เป็นเงิน 794,461.38 บาท รวมทั้งได้ตัดจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่สามารถรื้อถอนได้ เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนเงิน 595,438.41 บาท

สำหรับทรัพย์สินที่มีชื่อบริจาคให้หน่วยราชการที่เคยแสดงความจำนงขอมาแต่ไม่มารับ ปรส.ได้รวบรวม และมอบให้สำนักงานอัยการสูงสุดนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานที่ใช้งานไม่ได้ และที่ยังเหลืออยู่บางชิ้นเพื่อการใช้งาน ได้บริจาคให้มูลนิธิพระดาบส นำไปปรับปรุงใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนพระดาบส

และ 4.ปัญหาสำคัญที่ทำให้การชำระบัญชีของ ปรส.ยืดเยื้อเป็นเวลานาน คือ การดูแลติดตามคดีที่ ปรส.ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ ของศาล ตั้งแต่ยังไม่ยุบเลิก ปรส.

“ขณะที่ ครม.มีมติให้ยุบเลิก ปรส. และกระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำระบัญชี ปรส.นั้น มีคดีที่ ปรส.ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมค้างอยู่ จำนวน 25 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์จำนวน 615,276,523.86 บาท คดีเหล่านี้ศาลได้พิพากษายกฟ้อง และคดีสิ้นสุดทั้งหมด โดยคดีสุดท้ายที่ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 การที่คดีความเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ ของศาลเป็นเวลานานถึง 15 ปี ทำให้การชำระบัญชีของ ปรส.ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว”

อย่างไรก็ตาม เมื่อการชำระบัญชีสิ้นสุด ปรส.ได้นำส่งเงินคืนให้กระทรวงการคลัง จำนวน 871,903,880.10 บาท ประกอบด้วย ทุนประเดิมของ ปรส. 500 ล้านบาท และรายได้จากค่าธรรมเนียมการดำเนินการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งให้ระงับกิจการ รวมทั้งรายได้จากการลงทุนระยะสั้น ซึ่ง ปรส.ได้ปิดบัญชีธนาคารและนำส่งกระทรวงการคลัง รวมเป็นเงิน 38,595,385.11 บาท และนำส่งเงินสดที่เหลือคืนจากเงินทดรองจ่าย 3,700 บาท ให้แก่กระทรวงการคลัง เป็นงวดสุดท้าย

หลังจากนี้ เมื่อรายงานการชำระบัญชี ปรส.ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะถือว่าเป็นการ “ปิดฉาก ปรส.” องค์กรแห่งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์