“ศุภวุฒิ” ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยปี 62 โตชะลอตัว เตือนตั้งรับปัจจัยเสี่ยงตปท.-เฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่

“ศุภวุฒิ” ชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยปี 2562 โตชะลอตัว ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หนุนปั้นโครงการ “อีอีซี” ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน เตือนรับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่ เบรกความร้อนแรงเศรษฐกิจสหรัฐ เผยสงครามการค้าส่งผลกระทบแค่ 0.2% ของจีดีพีสหรัฐ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยในงาน Thailand 2019 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2562 ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับในปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 4.3% โดยปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่มีอัตราเติบโตดีอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเป็นการเติบโตในหมวดการซื้อรถยนต์ค่อนข้างเยอะ การลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ 3.5% ส่วนด้านอื่นๆ ไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก นอกจากนี้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำและค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยยังดูแข็งแกร่งและมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง

“เรามองว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโตช้าลงจากปีนี้ ซึ่งเรามองว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยน่าจะโตต่ำกว่า 4% แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวและการส่งออกสินค้าที่มีการขยายตัวได้ในระดับนึง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปได้” นายศุภวุฒิกล่าว

นอกจากนี้สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่เป็นเครื่องยนต์ใหม่ คือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ที่ภาครัฐพร้อมผลักดันและสนับสนุน ซึ่งเห็นได้จากการเห็นชอบและการอนุมัติโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นการนำเอาทรัพย์สินปัจจุบันที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดความคุ้มค่า

นายศุภวุฒิกล่าวต่อว่า การที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยใช้เวลา 45 นาที ซึ่งภาครัฐคาดหวังว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวแถบพัทยาเพิ่มขึ้น และหวังว่าจะรองรับนักจำนวนท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 40 ล้านคน จากเดิมที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 30 ล้านคน รวมถึงการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ภาครัฐพยายามขยายศักยภาพอุตสาหกรรมเช่น การเเปลี่ยนแปลงผังเมืองให้สามารถขยายอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในปี 2562

ด้าน อเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์และทีม โดยเฉพาะทีมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต้องการสกัดจีนไม่ให้ขึ้นเป็นมหาอำนาจเทียบเท่าสหรัฐหรือไม่ คาดว่าสิ่งที่อเมริกาและทีมความมั่นคงต้องการ คือ ให้จีนยกเลิก Make in China 2025 ซึ่งเป็นแนวคิดของรัฐบาลจีนที่ต้องการขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยี 10 ด้าน ภายในระยะเวลาอันใกล้ ผ่านการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงยุติธรรมของอเมริกา ที่มีฟ้องร้องและกีดกันบริษัทจีน

ทางด้าน ยุโรป ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากในภูมิภาคยุโรปมีความอ่อนไหวสูง จากที่แกนนำหลักอย่างเยอรมนีจะต้องเลือกผู้นำคนใหม่ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล รวมถึงประเด็น Brexit ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น และอิตาลีที่ยืนกรานจะทบทวนร่างงบประมาณประจำปี 2562 ประเด็นเหล่านี้ทำให้ยุโรปไม่สามารถเป็นผู้นำพาเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้

ส่วน จีน กำลังหาวิธีรับมือกับอเมริกา และเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังชะลอต ด้วยนโยบายการให้เงินหยวนค่อยๆ อ่อนลง เพื่อลดผลกระทบจากการทำสงครามการค้ากับอเมริกา ซึ่งเงินหยวนที่อ่อนค่า รวมถึงค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลง หมายความว่า กำลังซื้อของประเทศตลาดเกิดใหม่ในตลาดโลกจะลดลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันปรับลดลง 7% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ค่าเงินอ่อน ประเทศที่ปกติมีแรงซื้อน้ำมันเยอะไม่สามารถซื้อได้เนื่องจากค่าเงินอ่อนลง ประเด็นค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ที่อ่อนลงนี้ จะส่งผลกระทบในปีหน้า ที่จะทำให้กำลังซื้อในตลาดโลกลดลง

ด้าน ญี่ปุ่น จุดยืนค่อนข้างลำบาก จากการพยายามยืนข้างจีน แต่ต้องการเป็นพันธมิตรกับอเมริกาเช่นกัน เมื่อมองดูภาพของเศรษฐกิจโลกในเชิงดังกล่าว ถือว่ายังมีความไม่ชัดเจน นักลงทุนจึงมีแนวโน้มว่าจะรอดูก่อน (Wait and See) ซึ่งจะทำให้การลงทุนของโลกแผ่วลง

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยนักวิเคราะห์สหรัฐฯ คาดว่าในวันที่ 19 ธ.ค.61 เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่ง และจะขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ร้อนแรง และหน้าที่ของเฟดตามกฎหมาย คือ การดูแลให้มีการจ้างงานเต็มกำลัง จากการประเมินพบว่าอัตราการว่างงานโดยธรรมชาติอยู่ที่ 4-4.5% ส่วนอัตราการว่างงานจริงอยู่ที่ 3.7% นอกจากนี้จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะเติบโตที่ 1.8% แต่ปีนี้เติบโตถึง 3% ถือว่าเศรษฐกิจโตเกินศักยภาพ เมื่อเป็นเช่นนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงมองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจ จากสถิติในอดีตภาวะปกติของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่ากับเงินเฟ้อบวกเพิ่ม 1% ซึ่งเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 2-2.3% ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายควรปรับเพิ่มไปที่ 3%

ในส่วนของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ยังตอบได้ยาก เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยบวกที่อาจทำให้ไม่ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด ได้แก่ เงินเฟ้อของไทยยังต่ำที่ 1% จากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ 2% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงราว 7-8% ของจีดีพีปีนี้ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 6-7% ของจีดีพี รวมถึงยังมีเงินไหลเข้าจากการส่งออกมากกว่าการนำเข้าเดือนละ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากจะมีเงินไหลออกบ้างจากช่องว่างของดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของราคาด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ย

“โดยประเด็นที่น่าสนใจในอนาคตของประเทศไทย คือ ค่าเงิน จากที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดีประเทศไทยมีศักยภาพที่ไม่ต้องเร่งขึ้นตาม จากปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูง ซึ่งต้องพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย จากที่สัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของดุลบัญชีเดินสะพัดมาจากการท่องเที่ยว” นายศุภวุฒิกล่าว

ในปีหน้าคาดว่าในครึ่งแรกของปีอาจมีความพะวง สนใจ และหาคำตอบให้กับประเทศในด้านการเมือง ส่วนในครึ่งหลังของปี จะเป็นช่วงประเมินว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามามีนโยบายใดที่จะมาขับเคลื่อนเศษฐกิจของประเทศ นายศุภวุฒิกล่าวสรุป