สมาคมแบงก์โชว์แผนปี’62 ดัน “คิวอาร์โค้ด” ชำระข้ามแดน

“ปรีดี” กางแผนสมาคมธนาคารไทยปี”62 เน้น “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้-คิวอาร์โค้ด” หนุนชำระเงินข้ามแดน คาดเริ่มปีนี้ ดันผู้ใช้เช็คใช้อีเพย์เมนต์ช่วยลดต้นทุน-เพิ่มความสามารถแข่งขัน ถกใช้ “ตู้ ATM สีขาว” ลุ้นเผยโฉมปีนี้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปี 2562 แผนงานของสมาคมธนาคารไทยจะมุ่งเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และพร้อมเพย์มากขึ้น โดยส่วนของพร้อมเพย์จะพัฒนาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำโทรศัพท์มือถือไปชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่าน QR code ได้ในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบโมเดลอยู่ ได้แก่ switching และ sponsoring และคาดว่าจะให้บริการได้ในปีนี้

โดยโมเดล switching จะเชื่อมต่อระบบชำระเงินข้ามธนาคารผ่านระบบตัวกลาง ITMX ในขณะที่โมเดล sponsoring จะเป็นการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคในรูปของ Asian payment network (APN) ซึ่งปัจจุบันก็ได้ใช้โมเดล sponsoring แล้ว และญี่ปุ่นก็กำลังทำอยู่เช่นกัน ซึ่งจะต้องใช้ทั้งสองโมเดลคู่กันไป เพราะวัตถุประสงค์ของโมเดลหนึ่งจะใช้กับเรื่องหนึ่งได้ดีกว่าอีกเรื่อง รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยด้วย

นายปรีดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้สมาคมก็ยังคงมีการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้เงินสดให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเห็นคนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ยังใช้เช็คอยู่ เพราะคิดว่าค่าธรรมเนียมถูก แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นต้นทุนของผู้ใช้ด้วย ดังนั้น หากมาใช้อีเพย์เมนต์จะเป็นประโยชน์ทั้งธนาคารและตัวลูกค้าผู้ใช้เช็คเองด้วย เพราะจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันการค้าและต้นทุนก็ต่ำ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาในกลุ่มผู้ใช้เช็คปรับตัวต่อไป

สำหรับเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มและเคาน์เตอร์ธนาคารนั้น นายปรีดีกล่าวว่า อยู่ในระหว่างการหารือกันอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นผลกระทบวงกว้าง สิ่งที่พยายามทำคือ การสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น แม้การโอนเงินจะไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่ก็ยังมีต้นทุนจากที่ไป subsidize (รับภาระแทน) ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการโอนเงินด้วย

“ด้านความคืบหน้าของตู้เอทีเอ็มสีขาว (white label ATM) สมาคมกำลังหารือและทำ due diligence อยู่ เพื่อหาสูตรที่ลงตัวระหว่างธนาคารที่มีการลงทุนตู้เอทีเอ็มที่จำนวนมาก-น้อยต่างกันไป เมื่อธนาคารไหนลงทุนเยอะ ก็อาจต้องได้เยอะด้วย จึงเป็นความไม่เหมือนกันที่ต้องหาจุดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป ก็คาดว่าจะทยอยออกมาให้เห็นในปีหน้าได้” นายปรีดีกล่าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!