“วิรไท” เปิดอกคุย ไส้ในค่าเงินบาทแข็งเร็ว

ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเร็ว จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รับผิดชอบโดยตรง ล่าสุด “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเวทีชี้แจง

“เวลาพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาท คนมักจะมองด้านเดียว คือ มองในส่วนของเงินบาท แต่เวลาพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ต้องมองด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับดอลลาร์ ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ไตรมาส 4 จะเห็นว่าอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเยอะมาก ซึ่งมีผลต่อค่าเงิน”

“วิรไท” บอกว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ถึงปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองตลอดจนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของอเมริกา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมที่จะขึ้นแบบถี่ ๆ นอกจากนี้ สงครามการค้าสหรัฐกับจีนก็ยังไม่คืบหน้าชัดเจน

“เวลาที่ความมั่นใจในสกุลเงินดอลลาร์ลดลง ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับหลายสกุล โดยเฉพาะสกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ส่วนค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเราอยู่กลาง ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินกลุ่ม EM โดยมีเงินหลายสกุลของ EM ที่แข็งค่าเร็วกว่าค่าเงินบาท อาทิ รูเบิลของรัสเซีย เงินของประเทศในแถบอเมริกาใต้ ส่วนภูมิภาคเอเชีย สกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย กับค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกัน”

“วิรไท” อธิบายว่า ประเทศไทยถือว่ามีฐานะด้านต่างประเทศค่อนข้างดี เพราะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลค่อนข้างมาก ด้านหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ และมีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนโดยตรง (FDI) กันมากขึ้น พร้อมปฏิเสธเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 ทำให้มีเงินไหลมาพักในประเทศไทยมากส่งผลค่าเงินบาทแข็งขึ้นเร็ว โดยข้อเท็จจริงในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมาต่างจากปีก่อน ๆ ที่ในช่วงต้นปีมักจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุน (พอร์ตโฟลิโออินโฟลว์) ค่อนข้างมาก แต่ช่วงนี้เป็น “real money” จริง ๆ ที่เข้ามาลงทุนตรง การท่องเที่ยว และการขายสินค้า

“ปีนี้สถานการณ์ตรงกันข้าม เพราะถ้าดูตลาดพันธบัตรตั้งแต่สิ้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (USD) โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่เมื่อก่อนอาจจะเป็นช่องทางนำเงินมาพัก ก็มีการขายสุทธิถึง 860 ล้าน USD หรือกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนหุ้นเมื่อมีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ต่างชาติก็เข้ามาซื้อประมาณ 100 ล้าน USD ตั้งแต่ต้นปีมา ฉะนั้น สุทธิแล้วพอร์ตโฟลิโออินโฟลว์ก็ยังติดลบอยู่ประมาณ 300 ล้าน USD”

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แม้จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ก็ถือว่ายังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่อยู่ 2.50% และยิ่ง “ต่ำกว่า” ประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก อาทิ อินโดนีเซียที่อยู่ 6% ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6% เวียดนามอยู่ที่ 6.25% มาเลเซียอยู่ประมาณ 3.25%

“คำถามที่ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันแรกก็เป็นเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เรายังเกินดุลค่อนข้างสูง ปีที่แล้วทั้งปีน่าจะจบประมาณ 3.7 หมื่นล้าน USD ลดลงจากปี 2560 แต่ก็ยังอยู่ระดับสูงมาก”

ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่า “กังวล” เวลาที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินก็ได้ดูว่า “เก็งกำไร” มี “ธุรกรรมที่ผิดปกติ” หรือ “ความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ” หรือไม่ หากพบว่าเคลื่อนไหวผิดปกติ ก็จะ “เข้าไปดูแลเหมือนที่ผ่าน ๆ มา”

“ในภาวะที่อยู่ในบรรยากาศสงครามการค้า เราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ประเทศอื่นมาหาว่าเราเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้า ซึ่งจะนำมาซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าด้านอื่น ๆ ได้ก็เป็นประเด็นอ่อนไหว”

“วิรไท” ชี้ว่า ค่าเงินบาทของไทยผันผวนต่ำกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ของหลายประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและ EM ซึ่งต้องมาช่วยกันตั้งคำถามและคิดด้วยว่า “ทำไมประเทศอื่นจึงสามารถรองรับหรือทนทานความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่าธุรกิจในประเทศไทย หรือระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน”

โดยในระดับมหภาคจะต้องมีการผลักดันการลงทุนให้มีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าก็เป็นโอกาสดีในการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อยกระดับการผลิต ขณะที่ภาคธุรกิจจะต้องลดการแข่งขันทางด้านราคา มาให้ความสำคัญกับการแข่งขันด้านคุณภาพของสินค้ามากขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

ซึ่ง ธปท.ก็มีการดำเนินการทั้งการมีความร่วมมือกับธนาคารกลางของหลายประเทศส่งเสริมให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่น นอกจากนี้ ธปท.ยังพยายามทำให้ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (forward) มีความโปร่งใส และเกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งมีโครงการ Fx Option ระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินการ

“การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของเรา ผู้นำเข้าค่อนข้างมีวินัย ส่วนผู้ส่งออกจะแห่กันมาทำช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ยิ่งกดดันค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวเร็วขึ้นไปอีก”