จ้างดีลอยท์ส่อง IFRS9 แบงก์รัฐไม่พร้อม-ชงคลังยืด 5 ปี

สคร.จ้าง “ดีลอยท์ฯ” ลุยสำรวจรัฐวิสาหกิจไม่พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ลุ้นชงคลังออกประกาศผ่อนปรนให้เฉพาะแบงก์รัฐอีก 5 ปี หนุนแบงก์ไหนพร้อมให้เดินหน้า เปิดผลวิเคราะห์ 5 ข้อ กระทบรายการทางบัญชีของรัฐวิสาหกิจ ชี้แบงก์รัฐได้รับผลกระทบมากสุด

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง สคร.ได้ว่าจ้าง บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด (Deloitte) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS9) มาใช้กับรัฐวิสาหกิจ

โดยขณะนี้ดีลอยท์อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่สำรวจความพร้อมในการปฏิบัติตาม IFRS9 จากทุกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ยังไม่มีความพร้อมใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9

“แบงก์รัฐขอผ่อนปรน 5 ปี จากเดิมที่มีกำหนดให้เริ่มใช้ปี 2563 และบังคับใช้ในภาพรวม แต่เนื่องจากความพร้อมของแต่ละส่วนไม่เท่ากัน เราก็ต้องมาดูว่า ถ้าผ่อนปรนให้แบงก์รัฐแล้ว ช่วงก่อนครบ 5 ปี จะต้องมีการทำอะไรบ้าง หรือแบงก์ไหนพร้อมก็ให้ทำไปก่อน” นางสาวปิยวรรณกล่าว

นางสาวปิยวรรณกล่าวอีกว่า การบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 นั้น จะมีผลต่อรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพราะเป็นเรื่องรายงานบัญชี แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้คุณภาพสินทรัพย์

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก สคร.ระบุว่า ทาง Deloitte ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจในภาพรวมจากการปฏิบัติตาม IFRS9 โดยมีรายการทางบัญชีหลักที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1.กรณีลูกหนี้การค้า กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (expected credit loss) ตามหลักการอย่างง่าย (simplify approach)

2.กรณีเงินให้สินเชื่อและเงินให้กู้ยืม รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงิน จะต้องจัดทำแบบจำลองเพื่อใช้ในการคำนวณผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามหลัก forward-looking โดยต้องมีข้อมูล ระบบงาน และกระบวนการทำงานที่รองรับ และมีผลกระทบเรื่องกระบวนการทางบัญชีที่เปลี่ยนไป หากรัฐวิสาหกิจมีการให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น เงินให้สินเชื่อต่ำกว่าตลาด เงินให้กู้ยืมแก่พนักงาน เป็นต้น

3.กรณีตราสารอนุพันธ์และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง มีผลกระทบเรื่องการวัดมูลค่ายุติธรรมตราสารอนุพันธ์ และหากรัฐวิสาหกิจตัดสินใจใช้การบัญชีป้องกันความเสี่ยง จะต้องมีกระบวนการทำงานเพิ่มเติม เช่น การจัดทำ hedge documen-tation

4.กรณีภาระผูกพันวงเงินสินเชื่อ, สัญญาค้ำประกันทางการเงิน กำหนดให้รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงิน จะต้องจัดทำแบบจำลองเพื่อใช้ในการคำนวณผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามหลัก forward-looking โดยต้องมีข้อมูล ระบบงาน และกระบวนการทำงานที่รองรับ

และ 5.กรณีเงินลงทุน กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจะต้องประเมินรูปแบบของกระแสเงินสดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อจัดประเภทรายการเงินลงทุน ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานและการวัดมูลค่ารายการ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะนายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) เป็นการทั่วไปนั้น จะไม่มีการเลื่อนออกไปอีก จากที่ก่อนหน้านี้ได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี มาเป็นการเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 แล้ว เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเตรียมปรับระบบต่าง ๆ ไว้รองรับหมดแล้ว โดยจะมีเฉพาะในส่วน SFIs ที่ยังไม่พร้อม และจะมีการขอขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี ซึ่งทาง สคร.ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จะประกาศแนวทางให้ทราบต่อไป