Big Data ขนาดนั้นสำคัญไฉน

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้น มหาศาล อันเกิดจากเทคโนโลยีด้าน digital ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วราวกับติดจรวด

เริ่มต้นด้วยการเกิดขึ้นของ internet สู่การพัฒนาความเร็วของระบบเครือข่าย การพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ การเติบโตของ IOT (internet of things) ผนวกกับเมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่ social media และ content platform เติบโตอย่างสุด ๆ ซึ่งแทบทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดข้อมูลข่าวสารขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จากการที่แทบทุกคนสามารถที่จะสร้างข้อมูลข่าวสารเองได้ ทั้งในแบบข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ รวมถึงถูกจัดเก็บกิจกรรมหรือพฤติกรรมต่าง ๆ มากมายผ่านอุปกรณ์ทั้ง Smart Phone และ IOT ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เรียกได้ว่าเป็น Big Data นั่นเอง

กล่าวได้ว่า big data ก็คือ ข้อมูลในปริมาณมาก และมีความหลากหลายทั้งที่มีโครงสร้าง (structured) หรือไม่มีโครงสร้าง (unstructured) ไม่ว่าจะเป็นทั้งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ มัลติมีเดีย มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว จนแม้กระทั่งอาจเป็นในรูปแบบ realtime กันเลยทีเดียว โดยข้อมูลนั้นอาจจะมาจากภายในหรือภายนอกบริษัทก็ได้ ซึ่ง big data มักจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ สำหรับเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือเพื่อกำหนดทิศทางขององค์กรได้

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs คงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า big data จะถูกนำมาใช้ประโยชน์กับ SMEs ได้อย่างไร หรือจะเหมาะเพียงกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ มีความเข้าใจและการเข้าถึงในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเก็บข้อมูลลูกค้าได้

แต่ SMEs เองก็สามารถเก็บข้อมูลลูกค้าได้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถเริ่มต้นสร้าง big data ผ่านการเปิดช่องทางออนไลน์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม online ต่าง ๆ ได้แก่ Facebook, Google และ Line ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก ที่สำคัญ คือ ฟรี หรือมีค่าใช้จ่ายไม่มาก หากเทียบกับการลงทุนด้าน IT ในอดีต ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือติดต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้

โดยเป็นข้อมูลที่สามารถแบ่งแยกตามเพศ อายุ ความถี่การเยี่ยมชม หรือติดต่อ เวลาที่เข้าใช้งาน พฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อหน้าเว็บหรือหน้าเพจของเรา จำนวนคลิก จำนวนไลก์ จำนวนแชร์ ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ละเอียดและมากมายเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และนำข้อมูลนั้นไปวางแผนการทำการตลาด หรือปรับปรุงสินค้าให้โดนใจผู้บริโภคได้มากยิ่ง ๆ ขึ้น อีกทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดงบประมาณการตลาดให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการที่อาจยังไม่ได้มีช่องทางออนไลน์ของตนเอง ได้สามารถใช้ประโยชน์กับ big data ที่มีอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตได้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ เครื่องมือ Google Trend ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ตรวจสอบเทรนด์จากการค้นหาของสินค้าต่าง ๆ ความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นการข้อมูลมาใช้พิจารณาวางแผนการตลาดได้

อยากให้ท่านลองเข้าไปค้นดูนะครับ

จะเห็นได้ว่า SMEs ก็สามารถนำ big data มาเริ่มใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้ สิ่งสำคัญก็คือ การได้เริ่มต้นและการได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ไม่จำเป็นต้องสมบรูณ์แบบหรือต้องเต็มรูปแบบ ให้ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เราและคนในบริษัทของเราได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูล ได้ฝึกดูข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ได้เกิดความเข้าใจและคุ้นเคยในเรื่อง big data ซึ่งในอนาคตข้อมูลจะยิ่งสำคัญและมีเพิ่มมากขึ้น


เปรียบดั่งเป็นสินทรัพย์อีกรูปแบบหนึ่งของธุรกิจกันเลยทีเดียว และเมื่อธุรกิจเรามีความพร้อมมากขึ้นก็จะได้ไม่ต้องเริ่มนับจากหนึ่งกันนะครับ