สงครามการค้า ส่งออกติดลบ กับระเบิดทางเศรษฐกิจ ที่ SMEs ต้องเตรียมรับมือ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย ดร.รุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ ทีเอ็มบี

ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs…ท่านทราบหรือไม่ว่า ทุกท่านต่างเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากยอดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศทั้งหมด หรือจีดีพี (GDP) 42% มาจากการผลิตสินค้าและบริการของ SMEs ยิ่งไปกว่านั้น…กิจการ SMEs ของทุกท่านรวมกันเป็นนายจ้าง ที่จ้างงานคนไทยทั้งประเทศถึง 82%

ทั้งนี้ ในรอบหกปีที่ผ่านมาภาค SMEs มีการขยายตัว เติบโตได้อย่างดี โดยเติบโตสูงถึง 6.1% เทียบกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโต 0.7%

แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้…มีกับระเบิดทางเศรษฐกิจที่ขวางทาง SMEs อยู่ ซึ่งที่เห็นชัด ๆ อย่างน้อยก็สามลูก

ถ้าผู้ประกอบการไม่ระวังให้ดี เผลอเหยียบกับระเบิด ก็จะทำให้ธุรกิจของท่านไปไม่ถึงฝั่งฝันดังที่ตั้งใจ

กับระเบิดลูกแรก คือ เศรษฐกิจไทยเราเอง ที่เริ่มส่งสัญญาณไม่สู้ดี จากตัวเลขที่ประกาศโดยสภาพัฒน์พบว่า จีดีพีของไทยในไตรมาส 1 มีการเติบโตเพียง 2.8% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ถ้าเศรษฐกิจยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน ที่จะมีรายได้ลดต่ำลง ทำให้ต้องชะลอหรือลดการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของ SMEs สัญญาณการชะลอตัวของภาคธุรกิจเอกชนเริ่มมีให้เห็นจากการประกาศผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว รวมกันลดลง 32% ซึ่งถือว่าทรุดหนักสุดในรอบสิบปี

กับระเบิดลูกที่สอง คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งปะทุมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมาพีกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% บนสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่าสองแสนล้านดอลลาร์ ตามด้วยการโต้ตอบของจีน ที่ขึ้นภาษีบนสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่าหกหมื่นล้านดอลลาร์

ผลกระทบเบื้องต้นของสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐและจีนชะลอตัวลง เนื่องจากต่างก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายยังอีกประเทศได้มากเหมือนเคย นอกจากนี้ อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้านำเข้าในทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ

แต่ผลกระทบของสงครามการค้าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสองประเทศเท่านั้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐและจีน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกชะลอตัว ก็จะส่งผลให้ทั้งสองประเทศ นำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยลดน้อยลง ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

และเราได้เห็นแนวโน้มนี้แล้ว จากตัวเลขส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 1 ที่ติดลบ 3.6% ย่ำแย่ที่สุดในรอบสามปี จุดเสี่ยงสำคัญ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเทศบอกว่าให้จับตาอย่างใกล้ชิด อยู่ที่หลังการประชุมสุดยอด G20 ในเดือนมิถุนายนว่า จีนกับสหรัฐจะตกลงกันได้ หรือความขัดแย้งระหว่างสองประเทศจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง มีโอกาสที่สหรัฐจะขึ้นภาษีบนสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นอีกสามแสนล้านเหรียญสหรัฐ

กรณีนี้จะเป็น “หมัดน็อก” ส่งให้เศรษฐกิจโลก ดิ่งลงเหวในทันที…

กับระเบิดลูกสุดท้าย คือ ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ทางการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาหุ้น ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้า รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลกที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ความผันผวนทางการเงิน ทำให้โอกาสในการเกิดวิกฤตการเงินในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดในรูปของการไหลออกของเงินทุนอย่างเฉียบพลัน การขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงทั้งในภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ แต่ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมว่า SMEs มีจุดแข็ง ที่เหนือกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ กล่าวคือ SMEs ถึงมีขนาดเล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่น และความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและตัดสินใจสูงกว่า

กับระเบิดทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤต แต่ SMEs ที่มีความพร้อม จะสามารถใช้จุดแข็งของตนเอง พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีความอุ้ยอ้าย และช้าในการตัดสินใจ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด SMEs ที่จะอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต ต้องมีไมนด์เซต (mindset) เปิดใจรับสิ่งใหม่ หมั่นหาความรู้ เพื่อนำนวัตกรรมเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจใหม่มาปรับใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างเหมาะสม