Crowdfunding ท่อน้ำเลี้ยงใหม่ SMEs

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ คงไม่พ้นเรื่อง “เงินทุน” ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นความท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจเป็นอย่างมากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยรูปแบบของแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน นอกเหนือจากเงินทุนส่วนตัว หรือเงินกู้ยืมจากคนรู้จัก ก็มักมาจาก “เงินกู้” จากสถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งการ “กู้เงินนอกระบบ” ซึ่งปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมของ SMEs ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายมิติ ทำให้ก่อเกิดระบบบูรณาการใหม่ ๆเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ เทคโนโลยี”crowdfunding” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเงินที่กำลังจะมาเป็นทางออกใหม่ในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

“crowdfunding” ถ้าแปลแบบตรงตัว สั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ก็คงหมายถึง เงินทุนจากมวลชน ซึ่งหากขยายความเพิ่มเติมก็คือ การระดมทุนจากผู้คนจำนวนมาก หรือจากสาธารณะ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมหรือกิจการธุรกิจใดที่น่าสนใจ ผ่านระบบdigital platform บนช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลาง โดยมีหลายรูปแบบแตกต่างขึ้นอยู่กับชนิดของผลตอบแทนตามที่ตกลงกันระหว่างผู้กู้และผู้ลงทุน ทั้งนี้ มี 2 รูปแบบที่อยากจะนำมากล่าวถึง

โดยรูปแบบแรกก็คือ lending-based crowdfunding หรือ debt crowdfunding ที่ผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย โดยเป็นการระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินจากผู้สนับสนุน มีการกำหนดระยะเวลาในการชำระเงินคืนและจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้สนับสนุน และรับเงินทุนคืนเมื่อจบโครงการ

ซึ่งมีข้อดีทั้งในส่วนผู้ให้กู้และผู้กู้ โดยเป็นทางเลือกสำหรับบุคคลทั่วไปในการเป็นผู้ให้กู้ แม้มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนได้ และได้รับผลตอบแทนมากขึ้นในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป็นอีกทางเลือกที่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางออนไลน์

ซึ่งถ้าในส่วนผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา ก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หากสำหรับผู้กู้ที่เป็นบริษัทก็จะอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สำหรับรูปแบบที่สองก็คือ equity-bsed crowdfunding ที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้น โดยเป็นการระดมทุนผ่านผู้สนับสนุนทุนจะได้ถือครองหุ้นของโครงการหรือกิจการที่เลือกตามสัดส่วน และยังมีโอกาสรับผลประโยชน์เพิ่มในอนาคตจากกิจการธุรกิจนั้น ๆ ทั้งนี้ การระดมทุนในรูปแบบนี้ก็จะถูกกำกับโดย ก.ล.ต. ในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขของผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของความสำเร็จหรือการยอมรับการระดมเงินทุนรูปแบบใหม่นี้ก็คือ ผู้ที่เป็นตัวกลางที่ดูแลแพลตฟอร์ม จะต้องมีระบบที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้กู้ และผู้ให้กู้ โดยมีการคัดกรองผู้กู้ และผู้ให้กู้ รวมถึงระบบประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ตลอดจนจะต้องมีกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียนอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

คำถามที่ตามมาก็คือ การระดมเงินทุนผ่านระบบ crowdfunding นี้ จะกลายมาเป็นคู่แข่งของธนาคารในการให้กู้กับธุรกิจในอนาคตหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศกลับปรากฏว่า หลายธนาคารได้มีการร่วมมือกับ FinTechที่ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม crowdfunding ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเป็นตัวกลางร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งการร่วมมือกันจะเป็นประโยชน์กับธนาคารในระยะยาว ทำให้ธนาคารสามารถมีบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น และมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นให้กับผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้าธนาคารได้อีกด้วย

อดใจรอกันสักนิดนะครับ ท่านผู้ประกอบการ