ธุรกิจก่อสร้างยุคนี้ มีเทคโนโลยีมาช่วยแล้ว

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่า
ในปี 2562 การก่อสร้างน่าจะเติบโตประมาณ 4.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเภทธุรกิจก่อสร้างทั่วประเทศ จำนวน 79,648 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แต่จากโลกการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับการแข่งขันที่เกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแนวทางที่ผู้ประกอบการอาจจะนำมาปรับใช้ คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาแรงงาน เช่น

การวางแผนโครงการและการออกแบบโครงการ (technology in planning and building designs) ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น building information modeling (BIM) คือ ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ในการออกแบบจำลองโครงการเสมือนจริงในรูปแบบ 3 มิติ (3D modeling) ทำให้เห็นรายละเอียดของโครงการในมิติต่าง ๆ เช่น การวางสายไฟฟ้าหรือท่อประปาภายในอาคาร ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการออกแบบ ง่ายต่อการแก้ไข ช่วยคำนวณปริมาณวัสดุก่อสร้าง ควบคุมต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้าง

การบริหารจัดการด้านการเงินของโครงการ ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้าง โดยโปรแกรมจะทำการคำนวณต้นทุนของโครงการ หรือการคำนวณหาปริมาณวัสดุก่อสร้างที่จะใช้ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ต้นทุนแท้จริง และสามารถควบคุมรายจ่ายได้ เช่น โปรแกรมของ Builk

เทคโนโลยีที่ใช้ในงานก่อสร้าง ปัจจุบันมีเครื่องมือที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งมีการนำมาใช้จริงในต่างประเทศแล้ว เช่น 1) เครื่องมือก่อสร้างที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเลต เช่น เครื่องมือวัดระยะทางในไซต์งาน เครื่องวัดระดับเลเซอร์ เครื่องเจาะ โดยนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณพื้นที่ของงานและการใช้วัสดุก่อสร้างได้แบบ real time 2) การประยุกต์อุปกรณ์มาใช้ในงาน เช่น การนำโดรนมาใช้สำรวจไซต์งาน และควบคุมดูงานในมุมสูง

3) การนำเทคโนโลยี VR (virtual reality) มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมเครื่องมือก่อสร้าง เช่น การบังคับรถตักดิน โดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยให้เห็นพื้นที่ไซต์งานได้จากมุมนอก จึงควบคุมงานได้ง่ายขึ้น

4) การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ด้วยเทคโนโลยี 3D printing ซึ่งมีการนำไปใช้งานในหลาย ๆ ประเทศแล้ว

นวัตกรรมของวัสดุก่อสร้าง มีการคิดค้นและพัฒนาให้มีความแข็งแรงคงทน ขนส่งง่าย และช่วยให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพ สำหรับวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปที่มีการใช้งานกันอย่างมาก เช่น แผ่นผนังก่อสร้าง โครงหลังคาสำเร็จรูป โครงสร้างอาคารเหล็ก เทคโนโลยีการสร้างรูปแบบกึ่งสำเร็จอย่าง modularization นอกจากนี้ ยังมีผนังก่อสร้างอาคารสำเร็จรูป ที่เรียกว่า insulated concrete form มีน้ำหนักเบา มีความคงทนต่อความร้อน ซึ่งเป็นนวัตกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการเก็บงาน/ตรวจสอบงาน เช่น VR (virtual reality) และ AR (augmented reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยจำลองภาพ มีการนำไปใช้ประโยชน์ในขั้นตอนการตรวจสอบงานก่อสร้าง เชื่อมต่อข้อมูลกับแบบของโครงการที่ใช้โปรแกรมการออกแบบอย่าง BIM ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดของโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง อาคาร หรือโรงงาน ช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ชัดเจน เนื่องจากแบบจะถูกนำเสนอเป็นภาพ 3 มิติ พร้อมกับสามารถบันทึกข้อมูลและส่งไปยังผู้ควบคุมงานเพื่อทำการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดการบริหารการขาย การใช้ VR (virtual reality) และ AR (augmented reality) ในการนำเสนองานเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ลูกค้า ที่จะสามารถเห็นภาพของโครงการหรืองานที่ผู้ประกอบการเคยทำมาเสมือนจริงในหลายมิติ มากกว่าการนำเสนอผ่านรูปภาพ

ทั้งนี้ พัฒนาการของเทคโนโลยีในภาคก่อสร้างมีความหลากหลาย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและความพร้อมในการลงทุนในเทคโนโลยีนั้น ๆ และแม้ว่าเทคโนโลยีบางประเภทอาจจะดูไกลตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่โลกการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจเล็งเห็นข้อดีของการนำเข้ามาทำตลาด หรือสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ครับ