ดอกเบี้ยขาลง

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ในเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ออกมาแสดงความกังวล และส่งสัญญาณที่จะกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หรือปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีอ่อนตัวกว่าที่คาด ในขณะที่ความกังวลหลัก คือ ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งวันนี้น่าจะเห็นในทิศทางเดียวกันว่า จะยืดเยื้อและไม่จบลงง่าย ๆ แม้ว่าการพบปะครั้งล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และสี จิ้นผิง ที่การประชุมจี 20 จะทำให้ความกังวลผ่อนคลายลง เพราะทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดการเจรจาอีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าข้อตกลงครั้งนี้ก็เป็นเพียงการซื้อเวลา และยังมีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ หรือจะประสบความล้มเหลวเหมือนกับการเจรจาสองครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงไม่ได้ปรับดีขึ้น คือ การตอบโต้ทางภาษีที่มีผลแล้ว (สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญ เป็น 25% และจีนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐเป็น 5-20%) จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอ ผ่านการชะลอตัวของการส่งออกโดยรวม และการชะลอการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีจะยังมีทิศทางชะลอลงจึงเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไม่ชะลอลงแรงเกินไป

ในการประชุมเมื่อกลางเดือนมิถุนายนนั้น ธนาคารกลางสหรัฐประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันยังคงขยายตัวได้ แต่มีความเสี่ยงขาลงเพิ่มขึ้น และกล่าวว่า จะยังคงรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อให้ใกล้เคียงกับ 2% (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8%) และสัญญาว่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า หากเงินเฟ้อต่ำกว่า 2% และเศรษฐกิจชะลอตัว ก็พร้อมที่จะลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะเลิกใช้คำว่า “unconventional” เมื่อพูดถึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับใกล้เคียงกับศูนย์ และการซื้อสินทรัพย์ในช่วงวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งตีความได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจชะลอลงแรงจริง ๆ และไม่มีเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง โดยลดดอกเบี้ยไปที่ศูนย์ หรือแม้แต่กลับมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล (เพิ่มปริมาณเงิน) อีกครั้ง กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐกำลังส่งสัญญาณผ่อนคลายอย่างชัดเจน แต่จะปรับลงเมื่อไหร่ และเท่าไหร่นั้น คงต้องดูว่าเศรษฐกิจชะลอตัวมากแค่ไหน

ส่วนธนาคารกลางยุโรปได้ประชุมหารือนโยบายของธนาคารกลางประจำปี และนาย Draghi ประธานธนาคารกลาง ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน โดยการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีก หากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งหมายถึงการปรับลดดอกเบี้ย (ปัจจุบัน -0.4%) และรวมถึงการกลับมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ที่เพิ่งประกาศยุติไปเมื่อปลายปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยปัจจุบันติดลบอยู่แล้ว และปริมาณพันธบัตรที่จะซื้อได้เริ่มเต็มเพดานที่ตั้งไว้ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวน่าจะมีข้อจำกัด

ธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้นก็ยืนยันว่า จะยังคงนโยบายผ่อนคลายเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นมาตามเป้าหมาย โดยการคงดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% และการเข้าซื้อพันธบัตรเช่นเดิม

จากท่าทีของธนาคารกลางหลักทั้ง 3 แห่งจะเห็นว่า มีความกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกจากนี้น่าจะเป็นขาลง สำหรับนักลงทุนในตลาดการเงินนั้นคาดการณ์ว่าสหรัฐจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม หรือกันยายนนี้ และจะปรับลง 0.50-0.75% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้อ่อนตัวมากนัก ดังนั้นอาจจะต้องเผื่อใจว่า ดอกเบี้ยอาจจะปรับลงช้ากว่าและน้อยกว่าที่คาด ซึ่งถ้าสหรัฐเริ่มลดดอกเบี้ย ก็จะเป็นการชี้นำให้ดอกเบี้ยในประเทศอื่น ๆ ปรับลดในระยะต่อไป

ส่วนแบงก์ชาติไทยนั้นยอมรับว่า เศรษฐกิจชะลอลง (ปีนี้โต 3.3%) แต่ยังมองแง่ดีว่าจะฟื้นตัวในปีหน้า (โต 3.7%) ซึ่งสาเหตุหลักของการชะลอตัวมาจากปัจจัยภายนอกที่กระทบการส่งออก ส่วนเศรษฐกิจภายในไม่แย่นัก เพราะการบริโภคยังขยายตัวพอควร ขณะที่การลงทุนน่าจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสิ่งที่แบงก์ชาติกังวลมากกว่า คือ เสถียรภาพระบบการเงิน และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะอาศัยมาตรการดูแลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเป็นหลัก จึงดูเหมือนว่าแบงก์ชาติไทยจะไม่รีบร้อนลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้คาดว่าดอกเบี้ยไทยก็น่าจะลดตามดอกเบี้ยโลกในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าเช่นกัน