ก.ล.ต.เล็งเพิ่มโทษคนปั่นหุ้นฐานฟอกเงิน

ก.ล.ต.เล็งเพิ่มโทษคนปั่นหุ้นร่วมกับ ปปง. และ DSI ชี้ที่ผ่านมานักปั่นหุ้นมองว่าจ่ายเงินตามโทษทางแพ่งแล้วจะจบง่าย เตรียมส่งคดีปั่นหุ้นที่มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้่ ปปง. พิจารณาฐานฟอกเงินเพิ่มเติม

พลตำรวจตรีปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดทางแพ่งปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดมักจะมองว่าการเสียค่าปรับตามโทษทางแพ่งจะทำให้การทำความผิดจบลง อีกทั้งการปั่นหุ้นถือเป็นการกระทำความผิดตามมูลฐานที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินของ ปปง. เช่นกันในกรณีที่มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ดังนั้น จึงมีการพูดคุยกันว่าระหว่าง ปปง. และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการเอาผิดผู้กระทำความผิดฐานปั่นหุ้นในโทษฐานฟอกเงินตามกฎหมาย ปปง. ด้วยเช่นกัน

“ปัจจุบัน ก.ล.ต. มีการส่งเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางแพ่งให้ ปปง. ดำเนินการต่อแล้วประมาณ 7-8 เรื่อง โดยสำนักงานปปง.จะดำเนินการต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบสวนเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินของปปง.ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพูดคุยกับ DSI ว่าจะให้สำนักงานปปง.เป็นผู้ดำเนินการกล่าวโทษหรือจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกล่าวโทษได้เองทันที ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวร่วมกันเร็วๆ นี้” พลตำรวจตรีปรีชา กล่าว

พลตำรวจตรีปรีชา กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกได้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เพราะอาชญากรเองได้มีพัฒนาการในการเรียนรู้การใช้ช่องโหว่ของเทคโนโลยีในการกระทำความผิดมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ปปง. และ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้เท่าทันกับอาชญากรดังกล่าว จึงต้องยกระดับความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างสองหน่วยงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของประเทศมีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับมาตรฐานสากล

โดย ได้มีการปรับปรุงบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง ปปง. และ ก.ล.ต. ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะการปรับปรุง 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ข้อมูล จากเดิมที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองหน่วยงานอยู่แล้ว แต่การที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องทำ MOU มีความชัดเจนขึ้นว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลประเภทใดร่วมกัน หรือเพื่อนำมาปรับใช้ให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป 2.บุคคล โดย ปปง. จะมีกองกำกับและตรวจสอบที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับ ก.ล.ต. เกี่ยววกับเรื่องของข้อมูลต่างๆ

และ 3.การเชื่อมโยงข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยปัจจุบันมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ขึ้นมาซึ่ง ก.ล.ต. เป็นผู้ที่ดูแลในส่วนนี้ ขณะที่ ปปง. จะเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับระเบียบหรือกฎหมายให้มีความสอดคล้อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้กฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ ปปง. มีการประสานงานกับ ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าตลาดทุนมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการเจริญเติบโตของประเทศ หากตลาดทุนไม่มีความน่าเชื่อถือก็จะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากปัญหาเรื่องการลงทุนไปด้วย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต เปิดเผยว่า ล่าสุด ก.ล.ต. ได้บรรลุข้อตกลงใน MOU แบบทวิภาคี จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงระหว่าง ก.ล.ต. กับ ปปง. ว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในขณะที่การบันทึกข้อตกลงระหว่าง ก.ล.ต. กับ ดีเอสไอ จะเป็นการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การลงนามใน MOU ทั้งสองฉบับถือเป็นมิติใหม่ของ ก.ล.ต. ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือจากข้อตกลงฉบับเดิมที่จัดทำขึ้นกับ ปปง. และดีเอสไอในปี 2559 และ 2548 ตามลำดับ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมในลักษณะบูรณาการที่ครอบคลุม สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายในปัจจุบัน และแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี” นางสาวรื่นวดี กล่าว

พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ทั้งสองหน่วยงานได้ปฏิบัติงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ฯ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและประชาชนจำนวนมาก ภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงการประสานความร่วมมือฉบับปี 2548 โดยภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับปรับปรุงนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะให้ความสำคัญในเรื่องของวิธีปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด โดยเน้นการปฏิบัติงานเชิงรุกในทุกประเภทความผิดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ให้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการหารือระหว่างกันตั้งแต่ในชั้นก่อนที่จะเป็นคดีจนกระทั่งคดีถึงที่สุด เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในตลาดทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป