สแตนชาร์ดปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.3% มองศก.ไทยเสี่ยงเพิ่ม ถูกภัยแล้งกดดัน-สัญญาณสินเชื่อรถยนต์ชะลอ

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเพิ่มถูกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลต่อการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยต่ำลงเหลือ 3.3% จากเคยมองขยายตัวไว้ 4% หลังช่วงที่เหลือของปีเริ่มเห็นความเสี่ยงทั้ง “ส่งออก-ท่องเที่ยว-ภัยแล้ง-สินเชื่อรถยนต์-หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้น”

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารมีความจำเป็นต้องปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ลดลงเหลือ 3.3% จากที่เคยมองไว้ขยายตัว 4% หลังจากช่วงที่เหลือของปีจะเห็นความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการบริโภคในประเทศที่เคยแข็งแรง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่กลับมาเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มกังวลและอาจจะมีมาตรการเข้มงวดกับเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ และการปล่อยกู้รถ นอกเหนือจากมาตรการควบคุมอสังหา (LTV) เมื่อปีที่แล้ว จึงอาจจะเป็นความไม่แน่นอนของการบริโภคในประเทศ

ขณะเดียวกันสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในจังหวะที่สภาพเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับประเทศ และเป็นความเสี่ยงที่กดดันเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยภาคการส่งออกค่อนข้างชัดเจนครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ยังคงติดลบอยู่ประมาณ -3% คาดว่าทั้งปีจะกลับมาโตอยู่ที่ 0% โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีทิศทางดีขึ้น หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มกลับมาคุยกันหลังจากพบปะที่ประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าปลายปีอาจจะทำให้ภาคส่งออกของไทยดีขึ้นได้ ประกอบกับฐานที่ค่อนข้างต่ำจะช่วยหนุนได้บ้าง

ทั้งนี้ สำหรับภาคการท่องเที่ยว พบว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีน ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ติดลบอยู่ที่ -10% ขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรปที่เคยคิดว่าจะมาชดเชยก็กลับมาท่องเที่ยวไม่มากนัก เนื่องจากค่าเงินยูโรอ่อนค่าในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยนักท่องเที่ยวยุโรปหันไปท่องเที่ยวเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง โดยครึ่งปีแรกเติบโตได้เพียง 2% จากที่เคยเติบโตเป็น 10% เมื่อปีที่แล้ว
“เราไม่สามารถที่จะมองบวกได้มากนัก เพราะเห็นความเสี่ยงทั้งรถยนต์ ภัยแล้ง ตัวเลขส่งออก และท่องเที่ยว ทำให้ทั้งปีมองจีดีพีอยู่ที่ 3.3% ซึ่งเป็นระดับกลางๆ แต่ว่าก็ค่อนข้างยาก เพราะช่วงไตรมาสแรกทำได้เพียง 2.8% พอเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ดูไม่ค่อยฟื้นจากช่วงไตรมาส 1 มากนักจากเรื่องของการเมือง ฉะนั้นไตรมาส 3 จะต้องทำให้ได้อย่างน้อย 3% และช่วงไตรมาส 4 จะต้องทำให้ได้ประมาณ 3.5% ขึ้นไปถึงจะทำให้ทั้งปีจีดีพีอยู่ที่ 3.3% ได้” นายทิมกล่าว

ส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่ คาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะเห็นรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาทได้ โดยเน้นกระตุ้นในกลุ่มเกษตรกร และการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป้นการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ต้องการเงินอีกมาก ซึ่งต้องติดตามนโยบายภาครัฐในระยะกลางและระยะยาว อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับลดภาษี
“มุมมองนักลงทุนต่างชาติอยากเห็นการปรับโครงสร้างของประเทศไทย จากการได้ประโยชน์ของสงครามการค้า เช่น การย้ายฐานการผลิต การลงทุน EEC ซึ่งเป็นนโยบายที่นักลงทุนกองทุนต่างชาติอยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง การเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการท่องเที่ยว ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า” นายทิมกล่าว

ส่วนการปรับมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยมูดี้ส์ได้ปรับมุมมองไทยเป็นเชิงบวก (Positive) มากขึ้น จากเดิมที่มีแนวโน้มคงที่ (Stable) หลังภาครัฐมีความชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องจับตาระยะข้างหน้าว่าจะมีการปรับเรตติ้งประเทศเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ จากเดิมที่อยู่ระดับ BBB+ มาเป็น A-

ขณะที่มุมมองค่าเงินบาทระยะสั้นในไตรมาส 3 คาดว่าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า โดยมองกรอบอยู่ที่ 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนไหลเข้าที่จะเห็นต่อเนื่อง ทั้งจากการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้เห็นเงินไหลเข้าทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรระยะสั้น และระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะต้องจับตามาตรการดูแลค่าเงินบาทของแบงก์ชาติว่าจะมีมาตรการออกมาเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงมีประสิทธิภาพที่จะทำให้บาทอ่อนค่าได้หรือไม่

โดยธนาคารคาดว่าค่าเงินบาทในปี 2563 มีโอกาสกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังภาครัฐมีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในประกอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าอาจจะเกินดุลน้อยลง ส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ส่วนทิศทางดอกเบี้ย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะเริ่มเสียงแตกในการประชุมรอบ ส.ค.62 นี้ 1-2 เสียงที่จะส่งสัญญาณให้มีการปรับลดดอกเบี้ยลงมา แต่อย่างไรก็ตามยังมีมุมมองว่าทั้งปีนี้ กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไทยต่อเนื่องถึงสิ้นปีหน้า

ทั้งนี้หากภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น การเมืองมีเสถียรภาพ ช่วงปลายปี 63 มีโอกาสที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% เพื่อลดการกู้และสกัดการก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และช่วยปรับลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง โดยคาดว่าแบงก์ชาติอาจมีโอกาสปรับกรอบเงินเฟ้อต่ำลง หลังเงินเฟ้อทั่วโลกปรับลดลงต่อเนื่อง

ท้ายที่สุดแม้ว่าการเมืองจะมีความชัดเจนขึ้นในระยสั้นๆ แต่ต้องจับตาในปี 63 ว่า เสถียรภาพรัฐบาลมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคร่วม20 พรรค และการดำเนินนโยบายจะดีพอให้อันดับเรตติ้งของไทยดีขึ้นได้หรือไม่