ผู้ถือหุ้น SCB กว่า 94.15% เห็นด้วยอนุมัติขายหุ้น SCB Life ให้ FWD คาดแล้วเสร็จสิ้นปีนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ อนุมัติขายหุ้น SCB Life พร้อมเดินหน้าทำสัญญากับ FWD หลังผู้ถือหุ้นเห็นด้วยถึง 94.15% คาดดำเนินการแล้วเสร็จในปี 62
 
ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติขายหุ้นสามัญทั้งหมดที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้แก่ FWD Group Financial Service Pte.Ltd. หรือ FWD โดยผู้ถือหุ้นมีมติเห็นด้วยสูงถึง 2,460 ล้านเสียง คิดเป็น 94.15% และไม่เห็นด้วยเพียง 151 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 5.80% ธนาคารไทยพาณิชย์จึงอนุมัติขายหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 65,949,620 หุ้นที่ธนาคารถือในไทยพาณิชย์ประกันชีวิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.17 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของไทยพาณิชย์ประกันชีวิตให้แก่ FWD
 
นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ว่า เมื่อการซื้อขายหุ้นเป็นผลสำเร็จ ธนาคารและไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจะเข้าทำสัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคารระยะยาว (Distribution Agreement) เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในธุรกิจประกันชีวิต โดยธนาคารจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของ FWD แก่ลูกค้าในประเทศไทยผ่านช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ ของธนาคารเป็นเวลา 15 ปี ตามข้อกำหนดในสัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคารระยะยาว ซึ่งเชื่อว่าการซื้อขายในครั้งนี้จะส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น
 
“อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นในครั้งนี้จะถือเป็นผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น และต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการอนุญาตหรือผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการประกันภัย (คปภ.) ก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้” นายอารักษ์ กล่าว
 
ส่วนกรณีที่ผู้ถือหุ้นกังวลเรื่องผลิตภัณฑ์ของ FWD อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้า และส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจนั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า หากภายใน 15 ปี FWD ทำผลิตภัณฑ์ออกมาไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถไปขายประกันจากธนาคารอื่นได้ โดยที่ FWD จะไม่สามารถเรียกเงินค่าปรับจาก SCB ได้ เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ แต่หาก FWD เข้ามาซื้อธุรกิจประกันภัย หรือ SCB Lifeแล้ว อนาคตอาจมีการเปลี่ยนชื่อธุรกิจตามความต้องการของ FWD ได้ ส่วนการปลดพนักงานนั้น ยังเป็นไปตามเงื่อนไข จะไม่มีการปลดพนักงานภายใน 1 ปี
 
นายอารักษ์ กล่าวว่า ค่าตอบแทนที่ธนาคารฯ จะได้รับหลังทำสัญญาซื้อขายกับ FWD มูลค่าอยู่ที่ 9.27 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและพรีเมียม เนื่องจากมูลค่าดังกล่าวสะท้อนอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ถึง 2.4 เท่า และอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ที่ 17.1 เท่า นับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับบริษัทจะทะเบียนด้านประกันชีวิตในภูมิภาคนี้ที่ขาย P/BV เพียง 1 เท่า พร้อมกันนี้ ธนาคารฯ จะได้รับค่าตอบแทนอื่นๆ ตลอดสัญญาด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย (คอมมิชชั่น) รวมถึงค่าส่งเสริมผลงานและสนับสนุนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (allowances) และรายได้เงินลงทุนจากการนำกระแสเงินสดที่ได้รับจากธุรกรรมนี้ไปสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมด้วย
 
ทั้งนี้ FWD เป็นพันธมิตรที่มีความเหมาะสมแล้ว ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของ SCB Life เนื่องจาก FWD เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์ประกันที่มีคุณภาพและนวัตกรรม รวมถึงมีวิสัยทัศน์เชิงธุรกิจ สอดคล้องกับธนาคารโดยเฉพาะความมุ่งมั่นด้านเทคโนโลยีและยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง