คลังรับข้อเสนอตลาดทุน พิจารณากองทุนใหม่แทน LTF

“ไพบูลย์” ชี้ขุนคลังเห็นด้วยหลายเรื่อง หลังเข้าพบเสนอ “ตั้งกองทุนใหม่แทน LTF-ปรับกฎหมาย กบช.-ตลาดทุนเป็นตัวช่วยรัฐบาลสื่อสารนโยบายกับนักลงทุนต่างชาติ” ลุ้นกองทุน SEF เริ่มปีหน้า

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยหลังเข้าหารือกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ว่า ได้เสนอกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสิ้นปีนี้ โดยหลังจากนี้ขึ้นกับทางกระทรวงการคลังจะพิจารณา ซึ่งหากได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการ ก็สามารถประกาศในปีหน้าแล้วให้มีผลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ได้

“กองทุนหุ้นยั่งยืน คือกองทุนใหม่ที่เราเสนอคอนเซปต์ ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่วัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบโจทย์ประเทศ เรื่องสังคมสูงวัย ให้ประชาชนมีเงินออม การออมเงินผ่านตลาดทุนได้ผลตอบแทนที่ดี และอยากช่วยสร้างวินัยในการลงทุนของคนไทย โดยเฉพาะในวัยทำงาน เพราะถ้ามาดูเม็ดเงินออมในไทยน้อยมาก จะเป็นปัญหาได้ถ้าเกษียณแล้วไม่มีเงินเก็บ” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กองทุนใหม่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนที่รายได้สูงจะมีสิทธิประดยชน์ภาษีลดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิม LTF ลงทุนได้ 5 แสนบาท กองใหม่จะลดเหลือ 2.5 แสนบาท ขณะที่คนรายได้ไม่มากก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น จากเดิมถูกกำหนดเพดานการลงทุนแค่ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี เช่น มีเงิน 1 ล้านบาท ลงทุนได้ 1.5 แสนบาท หรือ รายได้ 5 แสนบาท ลงทุนได้ 7.5 หมื่นบาท เป็นต้น ก็จะเพิ่มเป็น 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 2.5 แสนบาทต่อปี ดังนั้น กองทุนใหม่จะเอื้อประโยชน์ให้คนรายได้น้อยถึงปานกลาง ได้สิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่ม ส่วนคนรวยจะลดลงครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน LTF มีเงินหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักลงทุนใน LTF ราว 2 ล้านคน โดยกองใหม่อาจจะมีเม็ดเงินน้อยกว่านั้น ซึ่งไม่ได้มองว่าจะมีผลกับตลาดหุ้น แต่มองว่าอาจเป็นการเสียโอกาสของคนไทยมากกว่า หากเลิกไปเลย ซึ่งก็หวังว่ากองทุนใหม่จะทำให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเมินแล้วภาระรัฐบาลไม่ได้มากขึ้น เพราะคนที่ออมส่วนใหญ่เป็นคนมีเงิน

“กองทุนใหม่ เน้นกระตุ้นให้คนรายได้น้อยถึงปานกลางเข้ามาลงทุนมากขึ้น เดิมเคยเสนอเป็นเครดิตภาษี แต่กรมสรรพากรบอกทำยาก จึงให้ไปคิดระบบใหม่ จึงคิดวิธีนี้ ซึ่งการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 7 ปีปฏิทิน” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับนโยายการลงทุนของ SEF นั้น เบื้องต้นกำหนดว่า สัดส่วน 65% ต้องลงทุนหุ้นยั่งยืน หุ้นที่มีธรรมาภิบาล กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาล เช่น ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 35% ขึ้นกับผู้บริหารกองทุนจะพิจารณา

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ทางฝั่งตลาดทุนเอง มีเรื่องที่จะช่วยทำให้รัฐบาล คือ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการทำงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มนักลงทุน ในสิ่งที่รัฐบาลทำ โดยเฉพาะการสื่อสารกับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจที่จะช่วยรัฐบาลผลักดันเรื่องความยั่งยืน ให้ธุรกิจตระหนักถึงการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เพื่อตัวเงินอย่างเดียวด้วย

“วันนี้ รมว.คลังก็เห็นด้วยกับหลายเรื่องที่เราเสนอ และขอนำไปศึกษาพิจารณาต่อเพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้ามาเสนอ” นายไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาผลักดันกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่มีลักษณะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยมีประเด็นที่ทางตลาดทุนเสนอปรับปรุงเพิ่มเติมจากร่างกฎหมายเดิมของรัฐบาลที่แล้ว อาทิ กรณีบริษัทที่มีกองทุนประเภทนี้อยู่แล้วก็ไม่ต้องบังคับ ซึ่ง รมว.คลังเห็นด้วยที่จะให้ยืดหยุ่น ส่วนการบริหารเงินจากเดิมรัฐจะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาบริหาร แต่ได้เสนอว่า น่าจะให้เจ้าของเงินสามารถแต่งตั้งผู้บริหารกองทุนเองได้

“เรื่อง กบช. รมว.คลังยังไม่ตอบรับ แต่ก็เห็นด้วยในหลักการ โดยสิ่งที่เราเสนอตรงกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างให้คนไทยมีเงินใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ ตรงนี้ตอบโจทย์ได้ ซึ่งเราเสนอว่า บริษัทที่มีกองทุนประเภทนี้อยู่แล้วก็ไม่บังคับ ท่านเห็นด้วย ให้ยืดหยุ่น ส่วนการบริหารเงิน เดิมรัฐมีคอนเซ็ปต์ตั้งบริษัทขั้นมาบริหาร แต่เราไม่เห็นด้วยว่าเจ้าของเงินจะให้ใครเข้ามาบริหารก็ได้ ทั้งนี้ กฎหมายฉบับเดิมที่เสนอเมื่อช่วงรัฐบาลที่แล้วก็ต้องทบทวนใหม่” นายไพบูลย์กล่าว