สภาหอฯ ชงแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเพิ่ม

แฟ้มภาพ

สภาหอฯ ตบเท้าเข้าพบผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เสนอลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม พยุงบาทแข็งกระทบส่งออก-เลี่ยงซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจชะลอ ห่วงหยวนอ่อนค่าแต่บาทยังแข็งกระทบจีนนำเข้าสินค้าเกษตรไทยลดลง

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าพบ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหาร โดยมีการเสนอทางเลือก (option) ในการดูแลค่าเงินบาทต่อธปท.ตั้งแต่มาตรการเบาไปหาหนัก เช่น การเสนอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น และหากพบสัญญาณเก็งกำไรเสนอให้มีการดูแลด้วยมาตรการหนักคือ การดูแลเงินไหลเข้าออกและการคงค้างบัญชีในประเทศ โดยชี้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ธปท.และนานาชาติต่างก็ทำ

“เราเสนอตั้งแต่การลดดอกเบี้ยนโยบายให้มากขึ้น และดูแลในเรื่องต่างๆ ทั้งการแทรกแซงด้วยวาจาและการแทรงแซงด้วยตัวเงิน รวมถึงมาตรการอื่นต่างๆ หากจำเป็น” นายกลินท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีการชี้แจ้งว่าปัญหาเงินไหลเข้ามาในไทยเกิดจากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมีเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ที่สูง ซึ่งประเด็นนี้ธปท.และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเอื้อกับการดูแลค่าเงินบาทในอนาคต

ขณะที่ประเด็นการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนมาอยู่ที่ประมาณ 7 หยวน/ดอลลาร์ นายกลินท์ ชี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่จากไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร เนื่องจากการที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงในขณะที่ค่าเงินบาทไทยยังคงแข็งค่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

“ขีดความสามารถในการแข่งขันของเรามีปัญหามาก โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องค่าแรงที่ขึ้นไปเร็วและแรง รวมทั้งมีโอกาสที่อาจจะปรับขึ้นไปอีก โดยค่าเงินบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการแข็งค่าต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่ประเทศจีนมีการปล่อยลอยตัว (float) ค่าเงินจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้นนั้น หากประเด็นดังกล่าวรุนแรงขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอีกจะยิ่งส่งผลให้การแข่งขันการส่งออกของไทยลดลงไปอีก เราจึงมาแสดงความกังวลใจเรื่องนี้ต่อผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งท่านก็มีการรับทราบและเฝ้าดูปัญหาอยู่ เราได้ชี้ประเด็นว่าถ้าสงครามการค้าฯ เข้มข้นและเงินบาทยังแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง แบงก์ชาติอาจใช้มาตรการอื่นเข้ามาเสริมโดยด่วน” นายกลินท์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนออื่นๆ ที่สภาหอการค้าฯ เสนอต่อธปท.ในวันนี้ ได้แก่ การสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางค่าเงิน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่สนใจลงทุนในประเทศไทยแต่กลับต้องไปตั้งออฟฟิศที่สิงคโปร์และส่งออกจากไทยไปอีกที โดยนโยบายของธปท.ที่อยากให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) มากขึ้นแต่ไทยยังไม่เป็นศูนย์กลางต่อการเงิน อย่างไรก็จะต้องใช้การชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์อยู่ดี ดังนั้น จึงมีการหารือระหว่างกันว่าจะมีนโยบายอะไรบ้างที่เอื้อให้ไทยเป็นศูนย์กลางค่าเงิน โดยชี้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องที่จะต้องหารือกับธปท.เพียงอย่างเดียว อาจจะต้องหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังด้วย


นอกจากนี้ยังเสนอการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) โดยมีการหารือระหว่างกันว่าทำอย่างไรจึงจะสามาถโปรโมทให้มีการใช้ดงินบาทในการชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้น โดยธปท.มีการนำเสนอข้อมูลให้ดูว่าปัจจุบันมีหลายประเทศที่ชำระค่าสินค้าและบริการเป็นสกุลเงินบาท เช่น ออสเตรเลีย มีการชำระด้วยค่าเงินบาท 34% ของการค้าขาย ลาว 60% และเมียนมาร์ มากกว่า 50% โดยสภาหอการค้าฯ มีการสนับสนุนประเด็นนี้ เนื่องจากสามารถช่วยลดความเสี่ยงเรื่องของความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ได้