ค่าเงินบาทปรับตัวในกรอบแคบ เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/2) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในกรอบแคบจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/2) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากทั่วโลกยังคงกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนสินทรัพย์ปลอดภัยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อคืน (18/2) มีตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Empire State Index ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ ออกมาอยู่ที่ 12.9 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.0 อย่างมาก ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังจากก่อนหน้านี้ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากตัวเลข GDP สำหรับไตรมาส 4/62 ออกมาต่ำ และแม้ว่าร่างงบประมาณประจำปี 2563 จะผ่านการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ ทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวเลขประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จาก 2.8% ลงอีกภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.18-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.17/31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0797/0800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/2) ที่ระดับ 1.0827/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากเมื่อคืนนี้ (18/2) ตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสถาบัน ZEW ในเดือนกุมภาพันธ์ของยูโรโซน ออกมาอยู่ที่ระดับ 8.7 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 21.5 อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณยุโรป ที่สมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศมีท่าทีที่ต่างกัน โดยเยอรมนี เนเธอแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก ต่างยึดมั่นต่อการดำเนินนโยบายด้านงบประมาณที่เข้มงวด ขณะที่สมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะในเขตยุโรปตะวันออก ต่างเรียกร้องเงินช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ประเทศสมาชิกได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0791-1.0808 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0803/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (19/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/2) ที่ระดับ 109.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นสำหรับเดือนมกราคม ออกมาหดตัว 2.6% ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกัน 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับเดือนธันวาคมเองก็หดตัวที่ 12.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.9% อย่างมาก โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.85-110.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.21/110.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค.ของอังกฤษ (19/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค.ของสหรัฐ (19/2), การอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค.ของสหรัฐ (19/2), รายงานการประชุม FOMC Meeting (20/2), รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (20/2), ดัชนีภาคการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน (21/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเดือน ม.ค. (21/2), ดัชนีผู้จัดฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการเดือน ก.พ. (21/2), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือน ม.ค. (21/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point)ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.15/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.70/4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ