เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดรอบ 11 ปี รวมพลัง “นโยบายการเงิน+การคลัง” สู้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปในหลาย ๆ ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เรียกประชุม “ฉุกเฉิน” และมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันที 0.50% ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายต่างก็คาดการณ์กันว่า หลังจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีการลดดอกเบี้ยกันตามมา รวมถึงประเทศไทยที่จะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ด้วย

ตลาดเก็ง กนง.หั่นดอกเบี้ย

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของไทย อายุ 10 ปี เหลือแค่ 0.97% ส่วนบอนด์ยีลด์ 5 ปี อยู่ที่ 0.77% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (R/P ข้ามคืน) ที่อยู่ที่ 1% สะท้อนว่า ตลาดคาดการณ์มีโอกาสสูงที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของตนเห็นว่าการ “ลดดอกเบี้ย” ตอนนี้ไม่ได้เกิดประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลงทุนเพิ่ม แต่มาตรการผ่อนปรนการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอบโจทย์ได้ตรงจุดมากกว่า และช่วยเหลือวงกว้างไม่เฉพาะเอสเอ็มอี

“ตอนนี้ เรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต ไม่ใช่เศรษฐกิจชะลอ แต่เป็นการหดตัว โดย TMB Analytics ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาสแรกจะหดตัว -3.3% ส่วนไตรมาส 2 เดิมคาดว่าจะบวก 0.2% แต่ถึงตอนนี้ คาดว่าน่าจะหดตัว เพราะสถานการณ์โควิด-19 ลากยาว เห็นได้จากที่การระบาดขยายวงกว้างออกไปนอกประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถกลับมาผลิตหรือนำเข้าได้เท่าเดิม” นายนริศกล่าว

GDP โต 0.5% ต่ำสุดรอบ 11 ปี

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2563 เหลือโต 0.5% จากเดิมคาด 2.7% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตซับไพรมปี 2552 หรือในรอบ 11 ปี เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 เป็นหลัก โดยอยู่ภายใต้ 3 สมมุติฐาน คือ 1.สถานการณ์ในประเทศจีน สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยไม่มีการปะทุขึ้นมาอีก 2.สถานการณ์ในประเทศอื่น ๆ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอิตาลี และเกาหลีใต้ สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 และ 3.จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาสั้น ๆ

ท่ามกลางความเสี่ยงที่ไทยอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) จากไตรมาสแรกที่คาดว่าจะหดตัว -1% และไตรมาส 2 น่าจะติดลบลึกกว่าไตรมาสแรก

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า “ภาคการท่องเที่ยว” และ “การส่งออก” ของไทย มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะหดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้ไทยสูญรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะหดตัวถึง -5.6% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลงอย่างมาก ทั้งทำให้เกิดดิสรัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางโครงสร้างเช่นในปี 2540 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์คลี่คลาย

“หากสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายและจบลงในไตรมาส 1 ได้ คาดจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ 1.5% แต่หากจบในไตรมาส 2 คาดว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และไตรมาส 3 น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ 1% และไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 3% ทำให้ทั้งปีคาด GDP ขยายตัวได้ 0.5%” นางสาวณัฐพรกล่าวและว่า

จีดีพีดังกล่าว ศูนย์วิจัยฯได้ใส่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว ซึ่งมองว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะเน้นการกระตุ้นเร็ว ระยะสั้น ด้วยการใส่เม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนให้มีเงินใช้จ่าย

เทรนด์ดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก

นอกจากนี้นางสาวณัฐพรกล่าวว่า เฟดอาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ เช่น แคนาดา มาเลเซีย ก็ทยอยปรับลดดอกเบี้ย และกรณีของไทย คาดว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ อย่างน้อย 0.25% และมีโอกาสปรับลงถึง 0.50% ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดไว้มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว

“ธนาคารกลางทั่วโลกทยอยลดดอกเบี้ย สะท้อนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น โดย กนง.ก็น่าจะลดลงอย่างน้อย 0.25% เหลือ 0.75% ซึ่งจะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ อย่างน้อยจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการและประชาชน แต่เชื่อว่ายังไม่ช่วยเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะคนยังคงกลัวที่จะออกมาใช้จ่าย ต้องช่วยกันทั้งนโยบายการเงินและการคลัง”

GDP ไทยวูบหนักสุดในเอเชีย

ขณะที่ นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลด GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 1.8% จากเดิมคาดไว้ 3% โดยการระบาดของโควิด-19 กระทบ GDP ไทยหายไปถึง 1% มากที่สุดในเอเชีย ซึ่งคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 0.25%

“ในสถานการณ์แบบนี้ประเทศไทยต้องใช้ทุกมาตรการ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หรือต้องใช้ทุกอย่างที่มีในการดูแลเศรษฐกิจ เพราะโควิด-19 กระทบไทยมากที่สุดในเอเชีย ส่งผลให้เงินบาทที่เคยแข็งค่ากลับมาอ่อนค่าลงเร็ว”

หนุนอัดนโยบายการคลัง

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกอยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย จากเดิมที่คาดว่า GDP ปีนี้จะเติบโต 2.7% และ 2.8% ในปี 2564 แต่จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะทำให้ GDP ไตรมาส 1 ของไทยหดตัว และยังไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่ เนื่องจากไวรัสยังแพร่ระบาดไม่สิ้นสุด

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลยังสามารถใช้นโยบายการคลังในการดูแลเศรษฐกิจที่ถูกกระทบได้ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ”

ขณะที่ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. ได้ส่งสัญญาณการปรับตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยระบุว่า ธปท.จะเผยแพร่ประมาณการ GDP ไทยในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ซึ่งระหว่างนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ท้ายที่สุดคงต้องหวังให้ทุกนโยบายของรัฐทำงานอย่างได้ผลมีประสิทธิภาพ เพื่อประคองเศรษฐกิจ และสังคมไทยให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้