ธุรกิจรับมือ ‘ชัตดาวน์กรุงเทพ’ ตั้งออฟฟิศสำรองต่างจังหวัด

จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้บรรดาภาคธุรกิจใหญ่ต่าง ๆ ทั้งภาคการเงิน โทรคมนาคม พลังงาน รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ ได้เตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP (business continuity planning) ไม่ให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ในกรณีที่รัฐบาลประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เฟส 3 หรือมีการปิดพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯ 

สำหรับ “ระบบการเงิน” ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่สามารถหยุดชะงักได้  นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.มีการเตรียมแผน BCP โดยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้ระบบการเงินต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณาว่า ระบบใดที่มีความสำคัญและไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ เช่น ระบบไอที เป็นต้น ก็จะมีการตั้งศูนย์สำรองไว้รองรับ เพื่อไม่ให้งานสะดุดหรือหยุด

นอกจากนี้ ธปท.ได้สื่อสารและติดตามสถานการณ์กับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งธนาคารมีการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการย้ายพนักงานที่มีความสำคัญ และให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้  กรณีมีปัญหาจะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

SCB แยกทีมไปอยู่ “พัทยา”

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารได้แยกพนักงานจำนวนหนึ่งที่รับผิดชอบงานสำคัญที่ไม่สามารถหยุดได้ เช่น ฝ่ายระบบไอที และห้องค้าเงิน เป็นต้น ไปทำงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรองที่เตรียมไว้ 2 แห่ง คือศูนย์แจ้งวัฒนะและศูนย์ฝึกอบรมหาดตะวันรอน พัทยา โดยเบื้องต้นได้ให้ไปทำงานที่ศูนย์แจ้งวัฒนะก่อนอันดับแรก เพื่อป้องกันม่ให้กลุ่มนี้เสี่ยงติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 และหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะกระจายพนักงานเหล่านี้ไปทำงานที่ศูนย์ฝึกอบรมที่เตรียมไว้ต่อไป และบางส่วนพนักงานก็สามารถทำงานได้จากที่บ้าน

“เรามีศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง 2 แห่ง แจ้งวัฒนะและตะวันรอน พัทยา ซึ่งตอนนี้ให้พนักงานที่เป็นหน่วยงานสำคัญ ๆ ไปทำงานที่แจ้งวัฒนะแล้ว โดยไม่ต้องรอสถานการณ์รุนแรง แต่หากเหตุการณ์เริ่มมีปิดพื้นที่บางส่วน เราจะกระจายไปที่ตะวันรอนต่อไป”   

เคแบงก์ตั้งศูนย์สำรองบางปะกง

ขณะที่ “ธนาคารกสิกรไทย” รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ก็เริ่มแบ่งทีมทำงาน โดยให้แยกสถานที่ทำงานกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีเกิดปัญหาขึ้นในสถานที่ใด อีกสถานที่ก็สามารถดำเนินงานต่อได้เพื่อให้งานทุกอย่างไม่สะดุด สำหรับกรณีรุนแรงถึงขั้นปิดเมือง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ  ก็มีแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านเหมือนครั้งชุมนุมการเมือง ซึ่งในส่วนของเคแบงก์มีสำนักงานใหญ่หลายแห่งทั้งสำนักงานสีลม เสือป่า และศูนย์การเรียนรู้ที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถใช้เป็นออฟฟิศสำรองได้ เช่นเดียวกับระบบงานไอทีแบงก์ก็มีศูนย์สำรองอยู่แล้ว

สำหรับแหล่งข่าวธนาคารทีเอ็มบี-ธนาคารธนชาตเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้แยกพนักงานที่อยู่ในหน่วยงาน
สำคัญเป็น 2 ส่วนโดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่งทำงานที่บ้าน และอีกกลุ่มทำงานในสถานที่จัดเตรียมไว้ สำหรับศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง กลุ่มธนาคารมีศูนย์ในต่างจังหวัดค่อนข้างมากจึงไม่มีปัญหา เหลือเพียงแค่เตรียมระบบในการทำงานเท่านั้น

เช่นเดียวกับ นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า บริษัทได้มีการซักซ้อมแผน BCP เป็นประจำทุกปี และมีการปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้มีการซ้อมย่อยโดยแบ่งทีมความรับผิดชอบการทำงาน ทั้งส่วนของคนที่ดูแลระบบหน่วยงานหลัก และทีมทำงานจากที่บ้านซึ่งเมื่อถึงเวลาก็รับผิดชอบได้ทันที รวมถึงมีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมศูนย์ปฏิบัติงานสำรองไว้รองรับ 2 แห่งได้แก่ สาทรและศรีนครินทร์ ซึ่งสามารถรองรับและปฏิบัติงานได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

BLA รับมือชัตดาวน์กรุงเทพฯ

ด้าน ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมแผน BCP หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือมีการชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก บริษัทได้เตรียมศูนย์สำรองการทำงาน 2 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดชลบุรี เพื่อให้พนักงานเข้าทำงานในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเตรียมพร้อมระบบและอุปกรณ์ให้พนักงาน 200 คน ให้สามารถทำงานที่บ้าน ตลอดจนเตรียมเครื่องมือให้ตัวแทนประกันในการทำงานได้โดยไม่ต้องออก
จากบ้านหรือไปพบลูกค้า เช่นการส่งผ่านกรมธรรม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น

“หากเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ และต้องชัตดาวน์กรุงเทพฯ เราก็ต้องมีแผนเตรียมพร้อมไว้ หลัก ๆ จะต้องดูว่าชัตดาวน์ที่ไหน แต่เรามีสาขาทั่วประเทศไว้รองรับอยู่แล้ว ตอนนี้เบื้องต้นยกเลิกการประชุมหรืองานที่มีการรวมตัวของคนจำนวนเยอะ ๆเปลี่ยนวิธีการพบลูกค้าแบบเผชิญหน้าก็ให้โทรศัพท์แทน” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

ขณะที่ นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย กล่าวว่า บริษัทมีแผน BCP ไว้รับมือ โดยในกรณีจำเป็นต้องหยุดการดำเนินธุรกิจในบางพื้นที่ บริษัทได้เตรียมเครื่องมือในการทำงานให้กับพนักงานและตัวแทน รวมถึงมีการแบ่งทีมงานที่สามารถทำงานที่บ้าน หรือพื้นที่สาขาใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ไทยประกันเปิด 2 ออฟฟิศสำรอง 

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต  กล่าวว่า บริษัทได้บรรจุมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแผนบริหารความเสี่ยงขององค์กร และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับแผนรองรับให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็น core business อาทิ พิจารณารับประกัน พิจารณาสินไหม บริการผู้เอาประกัน
และไอที ซึ่งต้องแบ่งทีมไปยังที่ทำการสำรอง คือสาขารัตนาธิเบศร์ และบางส่วน
ทำงานจากที่พัก หากเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัทก็มีออฟฟิศสำรองอีก 1 แห่ง คือสาขาพัทยา   

รวมถึง “แผนการรับมือ” กรณีพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในบริษัท จะดำเนินการอพยพในกรณีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน การกักตัวของบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด  พร้อมทำความสะอาดสถานที่โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในภายนอกบริษัท

ออมสิน-ธอส.เตรียมพร้อม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สำหรับแผนการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19กรณีเลวร้ายที่สุด หากการแพร่ระบาดส่งผลกระทบถึงขั้นปิดพื้นที่ ธนาคารได้เตรียมและซักซ้อมแผนธุรกิจต่อเนื่อง (BCP)ไว้พร้อมแล้ว  โดยจะใช้การบริหารจัดการด้วยระบบไอที  ซึ่งออมสินมีศูนย์คอมพิวเตอร์อยู่ 3-4 แห่งโดยอยู่ที่สำนักงานใหญ่พหลโยธิน ที่ศูนย์พิบูลสงครามและศูนย์สาทร กรณีเกิดโรคระบาดรุนแรงจำเป็นต้องดูแลคนในศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บริการของธนาคาร 86% ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีเพียง 14% ที่ยังเป็นระบบปกติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

“เรามีการซักซ้อมแผน BCP ที่เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกิดการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้งหรือดอกเบี้ยลดกะทันหันมาแล้ว แต่กรณีเกิดวิกฤตโรคระบาดยังไม่เคยซักซ้อม แต่ปัจจุบันได้เตรียมระบบและอยู่หว่างการประชุมคณะทำงานเพื่อซักซ้อมตามแผนเมื่อเกิดเหตุขั้นเลวร้ายดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามแผนได้ทันที”

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ระบุว่า ธอส.มีการแบ่งทีมงานเป็น 2 ทีมเพื่อบริหารความเสี่ยง รวมทั้งได้จัดสรรสถานที่ให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย เช่นลูกค้าที่มาใช้บริการขอสินเชื่อจะไปติดต่อคนละอาคารกับลูกค้าที่เข้ามาขอประนอมหนี้ เพื่อที่จะลดความแออัด เป็นต้น

ส่วนกรณีหากเกิดการชัตดาวน์กรุงเทพฯเนื่องจากการแพร่เชื้อรุนแรงขึ้น ธอส.ก็ได้เตรียมพื้นที่สาขาแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี เป็นที่รองรับการดำเนินงาน และให้บริการลูกค้า หรือกรณีมีสาขาในต่างจังหวัดบางแห่งเกิดปัญหาขึ้น ธอส.ก็มีสาขาบัดดี้ที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกันเตรียมไว้รองรับ

“บีกริม เพาเวอร์” ตั้งวอร์รูม

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทจัดทำแผน BCP หากรัฐบาลประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 มั่นใจว่าการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะไม่สะดุด โดยได้ตั้งคณะทำงานวอร์รูมขึ้นมา โดยมีตนเป็นประธานร่วมกับตัวแทนฝ่าย HR, ฝ่าย IT และกรรมการผู้จัดการของโรงไฟฟ้าทุกโรงเบื้องต้นได้กำหนดให้จัดกลุ่มการทำงานเป็น 2 ทีม โดยทีมใดที่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเป็นพิเศษ ส่วนทีมที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ทางฝ่าย IT ต้องเตรียมระบบสนับสนุนให้พร้อม อีกทั้งได้จัดหาออฟฟิศสำรอง  

ในส่วนของออฟฟิศสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปที่โรงแรมโฟร์วิงส์ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง ส่วนโรงไฟฟ้าทุกไซต์ก็จะกำหนดออฟฟิศสำรองเช่นกัน เพราะหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต้องสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรไปทันที และป้องกันไม่ให้การผลิตไฟฟ้าทุกโรงงานสะดุด ทั้งได้ประสานกับทางกรมควบคุมโรค หากพบผู้ป่วยจะต้องสามารถส่งตัวไปรักษาได้ทันที

AIS แบ่งทีมใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นางสาววราลี จิรชัยศรี หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)  เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่มมาตรการเข้มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานทุกส่วน และการให้บริการลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ทั้งแบ่งทีมพนักงานที่ทำงานแทนกันได้ เตรียมพื้นที่ทำงานทดแทนกรณีต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานชั่วคราว รวมถึงนำ digitalplatform มาประยุกต์ใช้ให้การทำงานไม่หยุดชะงัก เช่น สัมภาษณ์พนักงานใหม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระบบ remote access หรือ work from home อย่างทีมวิศวกรที่ต้องดูแลระบบ มีการแบ่งทีมกันไปอยู่ในจุดต่าง ๆ ที่สามารถดูแลระบบต่าง ๆ ได้สะดวกและทั่วถึง ลักษณะเดียวกับครั้งน้ำท่วมใหญ่

แหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างวางแผน BCP โดยจะแบ่งทีมงานรับผิดชอบแต่ละส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่รัฐบาลประกาศ 

หลัก ๆ คือแบ่งทีมว่าใครต้องทำงานที่ไหน อย่างไร ส่วนการเปิด-ปิดศูนย์บริการลูกค้าจะยึดนโยบายห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ส่วนเจดี เซ็นทรัลผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ JD.co.th เน้นมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเนื่องจากมีส่วนงานที่ต้องบริการขนส่งสินค้าให้ลูกค้า ต้องเดินทางไปในพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา

“โตโยต้า” ทิ้งตึกออลซีซั่นส์

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงผล
กระทบหลังจากเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น Ohana Poke ในตึกออลซีซั่นส์ติดเชื้อโควิด-19 โตโยต้าได้ทำการอพยพพนักงานทั้งหมดบนตึกออลซีซั่นส์ตั้งแต่ชั้น 41-43 กลับไปยังออฟฟิศใหญ่ที่สำโรง และศูนย์ฝึกอบรม TOYOTA Driving Experience Park ที่บางนา จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลาย โดยในช่วงแรกให้พนักงานหยุดทำงานที่บ้านก่อน เพื่อปรับปรุงสถานที่

หน่วยงานที่ต้องประสานงานกับโรงงาน, ดีลเลอร์ และซัพพลายเออร์ ให้ประจำที่สำนักงานใหญ่สำโรง เนื่อง
จากต้องเกี่ยวข้องกับระบบไอที แบ็กออฟฟิศ  ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ฝ่ายพี.อาร์. ให้ไปใช้สถานที่ศูนย์ฝึกอบรม

ก่อนหน้านี้โตโยต้าได้มีคำสั่งห้ามเดินทางต่างประเทศ หากจำเป็นโดยเฉพาะประเทศเสี่ยง ให้ดำเนินการตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด พร้อมเลื่อนหรือยกเลิกการจัดกิจกรรมทั้งหมด  และเพื่อลดความเสี่ยงของลูกค้า กิจกรรมการตลาดให้ผ่านช่องทางออนไลน์ 

เช่นเดียวกับนายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า  ได้ส่งหนังสือถึงพนักงานและผู้จำหน่ายทุกรายให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข 

ลูกค้าใหม่ที่ต้องการทดลองขับรถยนต์  มีบริการนำรถไปให้ทดลองขับถึงที่บ้าน นอกจากนี้ลูกค้า 200 รายแรกที่นัดเข้ารับบริการภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จะสามารถใช้บริการรับรถจากบ้านไปยังศูนย์บริการ และส่งรถจากศูนย์บริการ กลับไปที่บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย