ประกันชีวิตอ่วมไวรัสลามไม่เลิก เบี้ยปีแรกติดลบ/รัฐหั่นเกณฑ์ดอกเบี้ยอุ้มธุรกิจ

ธุรกิจประกันชีวิตอ่วม “โควิด-19” ทุบซ้ำ เบี้ยปีแรก Q1/63 ส่อหดตัว “กรุงเทพประกันชีวิต” โอดไวรัสระบาดกระทบช่องทางการขายผ่าน “แบงก์แอสชัวรันซ์” เหตุคนไม่เข้าสาขาแบงก์-ชะลอเดินห้าง แถมธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่ได้ฉุดเบี้ย MRTA หวังสถานการณ์คลี่คลายหนุนไตรมาส 2-3 เบี้ยฟื้น ด้าน คปภ.ช่วยประคองธุรกิจลดผลกระทบภาวะดอกเบี้ยต่ำ เร่งออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยใช้คำนวณอัตราเบี้ยประกันลดลงจากไม่ต่ำกว่า 2% เหลือ 1%

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงภัยแล้ง มีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนภาวะดอกเบี้ยต่ำ ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันปี 2563 นี้ โดยในไตรมาสแรก เบี้ยประกันปีแรกน่าจะหายไปมาก สอดคล้องกับที่มีการประเมินกันว่า ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้จะเติบโต 0%

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์

โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อช่องทางการขาย โดยเฉพาะช่องทางการขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) เนื่องจากคนเข้าสาขาธนาคารน้อยลงกว่า 50% รวมถึงเข้าศูนย์การค้าลดลง ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารทำได้ยากขึ้น มีผลกระทบต่อประกันคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ที่จะหายไปราว 50-60% ส่วนช่องทางตัวแทนยังพอไปได้ เนื่องจากยังสามารถส่งกรมธรรม์ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ แต่ก็ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้าบางส่วนยังต้องการพูดคุยกับตัวแทนแบบซึ่งหน้า

“ไตรมาสแรกถูกกระทบแน่นอน แต่ยังเชื่อว่าพอเข้าสู่ไตรมาส 2 และ 3 สถานการณ์จะดีขึ้น หากการระบาดของโควิด-19 ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มแบบมีนัยสำคัญ ก็อาจจะทำให้คนคลายความกังวล และออกมาใช้ชีวิตได้บ้าง ซึ่งน่าจะทำให้ช่องทางการขายผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ปรับดีขึ้น”

ม.ล.จิรเศรษฐกล่าวอีกว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประกัน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมาตรการที่จะปรับปรุงแก้ไขอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกัน (pricing) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ ลดลงเหลือไม่น้อยกว่า 1% จากเดิมกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 2%

“ตอนนี้หลายบริษัทยังคงให้ผลตอบแทนที่ 3% อยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจะมีการปรับสินค้าและราคาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการปรับพอร์ตลงทุน แต่การปรับพอร์ตการลงทุน อาจจะใช้ระยะเวลา ซึ่งในส่วนของบริษัทได้เริ่มทยอยปรับผลิตภัณฑ์ไปแล้วเป็นบางส่วน เช่น ผลิตภัณฑ์บางส่วนที่ให้ผลตอบแทนคงที่ เป็นต้น และจะทยอยปรับในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เหลือต่อไป”

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงมีผลให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง คปภ.จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อปรับปรุงการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันใหม่ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 1% ซึ่งได้แจ้งให้บริษัทประกันชีวิตคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้เอาประกันภัยทราบก่อนที่ทำประกันชีวิต รวมถึงให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนถึงต้นทุนของบริษัทอย่างแท้จริง

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. กล่าวว่า คาดว่าจะเสนอให้เลขาธิการ คปภ.ลงนามออกคำสั่งนายทะเบียนได้ในสัปดาห์นี้ และให้มีผลทันที โดยกรมธรรม์ใหม่จะต้องยื่นเรื่องขอความเห็นชอบก่อน จึงจะวางขายผลิตภัณฑ์ในตลาดได้

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต ประธานอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ภาคธุรกิจคงต้องปรับแบบประกันใหม่ โดยดอกเบี้ย 1% น่าจะใกล้เคียงความเป็นจริง เพราะบริษัทประกันลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี หรือระยะยาวกว่านั้น ก็ลดลงมาอยู่ระดับ 1% ทั้งสิ้น

“การลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1% จะทำให้เพดานเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจชาร์จเบี้ยประกันได้เหมาะสม และผลตอบแทนลูกค้าจะได้ใกล้เคียงกับตลาด” นายนิติพงษ์กล่าว

นายสาระ ล่ำซำ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 1% น่าจะยังไม่พอ เนื่องจากปัจจุบันบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ปรับตัวลงต่ำกว่า 1% ไปแล้ว เฉลี่ยอยู่ราว 0.8-0.9% และมีโอกาสลงต่ำทำนิวโลว์ได้อีก และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็น่าจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ซึ่งมองว่าควรจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการคำนวณขั้นต่ำให้ลงไปได้มากกว่านี้