ทีเอ็มบี ทำแผน BCP 3 ระดับรับมือโควิด-19 ลั่นไทยยังห่างวิกฤต

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทีเอ็มบี

ทีเอ็มบี เผยทำแผน 3 ระดับรับมือไวรัสโควิด-19 ยันธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-เอทีเอ็มเตรียมพร้อมไม่สะดุด พร้อมจัดกำลังพลลงช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ ลั่นไทยยังห่างไกลวิกฤต ระบุระบบการเงินแกร่ง ทุนสำรองสูง 19.4% หนี้เสียต่ำ-ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

วันที่ 20 มีนาคม 2563 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารได้จัดทำแผนรับมือการระบาดไวรัสโควิด-19 เพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือ BCP (Business Continuity Planning) ได้ 3 ระดับด้วยกัน คือ 1.ทางการขอความร่วมมือออกจากบ้าน 2.การปิดพื้นที่บางส่วน 3.การปิดพื้นที่ทั้งหมด หรือ Lockdown โดยธนาคารได้จัดทำแผนส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงขั้นตอนกระบวนทั้งหมด และได้มีการซักซ้อมเรียบร้อยแล้ว

โดยธปท.ได้กำชับถึงธุรกิจจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง เช่น ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องไม่สะดุด หรือระบบล่ม เงินสดในเครื่องเอทีเอ็มจะต้องมีเพียงพอสำหรับให้ประชาชนเบิกถอน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ธนาคารได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว และปัจจุบันธนาคารได้มีการให้ทีมงานบางส่วนสามารถทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้ระดับสูง ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนการเจอลูกค้า และจะทยอยแบ่งทีมทำงานภายในสัปดาห์ ขณะที่สาขา ธนาคารได้เตรียม Buddy Branch สาขาใกล้เคียงเพื่อรับมือหากมีสาขาใดที่ปิดลง

นอกจากนี้ ธนาคารได้ทำแผนงานส่งทีมงานเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มจังหวัด และลูกค้ากลุ่มไหน ซึ่งจะพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเยอะ ซึ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมประเภทนี้จะมีอยู่ 8 จังหวัด โดยธนาคารจะทำแผนจัดสรรกำลังพลให้เข้าไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือและธนาคารเข้าไปช่วยเหลือพอสมควร

“เราทำแผนไว้ทั้งหมดแล้ว มีทั้งกรณีปิดแบบความร่วมมือ ปิดแบบยุโรป หรือปิดแบบจีน ซึ่งเราทำแผนรับมือไว้หมด เชื่อว่าธุรกิจจะไม่กระทบสามารถเดินหน้าได้ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็เพิ่ม Capacity และลดพื้นที่ที่จะฉุดให้แอปพลิเคชั่นให้ทำธุรกรรมโหลดด้วย แผนพวกนี้เรามีหมด”

นายปิติ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าขณะนี้ไทยเผชิญปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากดูภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ มองว่า ยังคงห่างไกลจากคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตซับไพร์ม เนื่องจากระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากตัวเลขเงินทุนสำรองสูงถึง 19.6% เมื่อเทียบวิกฤตต้มยำกุ้งที่อยู่ 9.4% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.2% ปรับลดลงหากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่อยู่สูงถึง 45% นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่สูงถึง 7.5% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่อยู่ -2% เนื่องจากประเทศไทยช่วงนั้นมีการกู้เงินจำนวนมาก โดยกู้เงินระยะสั้นมาปล่อยระยะยาว

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันมีเงินกองทุนสูงถึง 2.85 ล้านล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ 19.6% ยอดสินทรัพย์สภาพคล่อง 3.67 ล้านล้านบาท และ NPL Coverage Ratio 150% หนี้เสียทั้งระบบ 3.2% ซึ่งของทีเอ็มบี 2.3%

“ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยโดยทั้งหมด 6 เด้ง เพราะกู้เงินดอลลาร์ เพราะคิดว่าดอกเบี้ยถูกกว่าไทย เมื่อเกิดวิกฤต ดอลลาร์จากเดิม 25 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท ดอกเบี้ยจาก 8-9% กระโดดขึ้นไป ทำให้เกิดเป็นวิกฤต แต่ปัจจุบันตัวเลขของธนาคารมีความแข็งแกร่ง และพร้อมดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ และปัจจัยพื้นฐานของไทยเองก็มีความยังแข็งแกร่งในทุกด้าน สะท้อนจากวิกฤตซับไพร์มไทยไม่รู้สึกถึงแรงกระเทือน ได้รับผลกระทบน้อยมาก” นายปิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มท่องเที่ยว ขนส่ง ร้านอาหารและบริการ มียอดรวมสินเชื่อธุรกิจ 0.81 ล้านล้านบาท หรือ 11% และ ยอดรวมสินเชื่อรายย่อย 0.58 ล้านล้านบาท หรือ 12%

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าเกษตร เครื่องดื่ม และ เคมีภัณฑ์ มียอดรวมสินเชื่อธุรกิจ 1.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น 25% และ ยอดรวมสินเชื่อรายย่อย 0.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15%


กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่ำ ยอดรวมสินเชื่อธุรกิจ 4.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% และ ยอดรวมสินเชื่อรายย่อย 3.55 ล้านล้านบาท หรือ 73% ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดอยู่ที่ 7.37 ล้านล้านบาท และ ยอดรวมสินเชื่อรายย่อย 4.85 ล้านล้านบาท