กสิกรไทยอนุมัติจ่ายเงินปันผล 5 บาท เม็ดเงิน 1.18 หมื่นล้านบาท

Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

ธนาคารกสิกรไทย อนุมัติจ่ายเงินปันผล 5.00 บาท วงเงิน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 34.43% ของกำไรสุทธิปี 62 พร้อมประกาศซื้อหุ้นคืน 23 ล้านหุ้น วงเงิน 3.2 พันล้านบาท ยันธนาคารสถานะแกร่ง ผลโควิด-19 มองผลกระทบไม่รุนแรง

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 108 ว่า ในที่ประชุมพิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรจากผลการดำเนินงานในปี 2562 และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท และเนื่องจากธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท และจะจ่ายที่เหลืออีก 4.50 บาท รวมเป็นเงินจ่ายปันผลทั้งสิ้น 1.18 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 34.43% ของกำไรสุทธิในปี 2562 โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2563 โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เมษายน 2563

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลเป็นอัตราที่คณะกรรมการเห็นว่าเหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ของธนาคาร เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 4.00 บาท โดยเป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท และจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 3.50 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 9,573 ล้านบาท

“ในปีธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2562 จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท และไม่มียอดขาดทุนสะสม ธนาคารจึงสามารถพิจารณาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น เพราะตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลจะต้องคำนึงถึงผลประกอบการและผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในระยะยาว”

ขณะที่การซื้อหุ้นคืนของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 14-27 ก.พ. 2563 ธนาคารได้ดำเนินการซื้อหุ้นทั้งหมดกว่า 23 ล้านหุ้น คิดเป็น 1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคาร มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.2พันล้านบาท ทั้งนี้ ตามกฏหมาย ธนาคารสามารถขายหุ้นที่ซื้อคืนได้ ภายหลัง เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับจากวันที่ซื้อหุ้นเสร็จ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี ซึ่งหากจะมีการขายหุ้นคืนจะมีการเสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยหากจะมีการขายหุ้นคืน จะเสนอขายได้ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และเสนอขายให้กับประชาชนตามความเหมาะสม และขึ้นอยู่กับปัจจัยเกี่ยวข้องในเวลานั้นๆ


นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 หากเกิดวิกฤตรุนแรง ธนาคารเชื่อว่า ผลกระทบที่มีต่อธนาคาร ไม่น่ารุนแรงมากนัก เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารมีเงินกองทุนแข็งแกร่ง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล อยู่ในระดับไม่สูงมาก แม้จะเพิ่มขึ้นหาก เทียบกับ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ตาม