“กรุงศรีฯ” อุ้มลูกค้า 1.2 ล้านราย ลดดอกเบี้ยบัตร 6% ฝ่าวิกฤตโควิด-19

กรุงศรีอุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19
ฐากร ปิยะพันธ์

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” อุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 นำร่องหั่นดอกเบี้ย “รูดปรื๊ด” 6% ทั้ง “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” เริ่ม 1 พ.ค.นี้ พร้อมเตรียมกระแสเงินสด 5 หมื่นล้านบาท พักหนี้ทั้ง “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ประคองลูกค้า 2 เดือน คาดช่วยลดภาระลูกค้าได้ 70% หวั่นหนี้เสียพุ่งไม่หยุด-ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรชะลอหนัก

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดเผยว่า บริษัทได้ริเริ่มโครงการเราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ โดยออก 3 มาตรการพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมกระแสเงินสดราว 4-5 หมื่นล้านบาท รองรับการออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทุกรายโดยอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่รอบบิลเดือน เม.ย. ไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้

“ปัจจุบันยอดชำระคืนลดลงไป 10-13% จากปกติที่ในแต่ละเดือนจะมีลูกค้าชำระหนี้เข้ามาเฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรก็อยู่ที่ราว 3-4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย บริษัทจึงต้องเตรียมกระแสเงินสดไว้ เพราะบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้า และพนักงานอยู่” นายฐากรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เหลือ 12% จากเดิม 18% สำหรับบัตรเครดิต โดยลูกค้าสามารถแปลงหนี้เป็นผ่อนชำระสูงสุด 48 งวดได้ ขณะที่สินเชื่อบุคคล (บัตรกดเงินสด) จะลดดอกเบี้ยเหลือ 22% จากเดิม 28% และลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เหลือ 3% โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ลูกค้าต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.-30 มิ.ย. 2563 นี้ ซึ่งบริษัทจะพิจารณาลูกค้าเป็นรายกรณี โดยคาดว่ามาตรการนี้จะมีลูกค้าเข้าร่วมราว 8 แสนคน ถึง 1.2 ล้านคน ซึ่งดอกเบี้ยที่ลดลงคิดเป็นมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท อันจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยของบริษัทหายไปประมาณ 30%

“เราได้เตรียมระบบหลังบ้านและกระแสเงินสดไว้พร้อมรองรับ ซึ่งคาดว่าลูกค้าเข้าโครงการลดดอกเบี้ย และผ่อนนานขึ้น จะช่วยลดภาระลูกค้าได้ราว 70%” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวด้วยว่า สำหรับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) ในไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มในไตรมาส 2 คาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลลดลงราว 50% และจะชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ที่คาดว่าจะลดลง 30% ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าจะกลับมาบวกได้ แต่น้อยกว่าปีก่อน

“ทั้งปีคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของสเปนดิ้งจะลดลงราว 35-40%”

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยบัตรเครดิตปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.6-1.7% เพิ่มจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.05% และสินเชื่อบุคคลมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.4% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.5% ซึ่งหากบริษัทไม่ดำเนินการมาตรการใด ๆ ก็คาดว่าเอ็นพีแอลจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีก โดยอาจจะเห็นเอ็นพีแอลบัตรเครดิตเพิ่มไปสูงกว่า 3% และสินเชื่อบุคคลสูงกว่า 6% เลยทีเดียว

“ธุรกิจบัตรเครดิตหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิม ตลาดจะหดตัวแรง เพราะหากมีคนตกงานเยอะ ฐานลูกค้าใหม่จะสมัครผ่านยาก ตลาดนักศึกษาจบใหม่จะชะลอตัว และฐานลูกค้าเก่าความต้องการลดลง ดังนั้นในปีนี้และปีหน้า ตลาดจะหดตัวแรง” นายฐากรกล่าว