ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ New Normal ธุรกิจร้านอาหาร 4แสนล้าน “ตลาดหดตัว” ครั้งแรกในรอบ 8 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยบทวิจัยเรื่อง “การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่” โดยระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดีขึ้นส่งผลให้ภาครัฐมีนโยบายผ่อนปรนให้ภาคธุรกิจบางส่วนกลับมาเปิดได้ โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนเป็นกลุ่มแรกตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ได้แก่ ร้านอาหารท่ีไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า สำหรับร้านอาหารในห้างฯ คาดว่าจะได้รับการผ่อนปรนในระยะถัดไปหากสถานการณ์ไม่ได้แย่ลง

ทั้งนี้แม้ว่าร้านอาหารมีโอกาสกลับมาเปิดสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ยังมีความกังวลต่อโควิด-19 ของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจร้านอาหารคงจะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับปัจจัย กดดันด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อ่อนแอ ยิ่งทำให้ธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด-19 มีความท้าทายสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะมีมูลค่าเหลือเพียง 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 9.7%-10.6% จากปีที่ผ่านมาและถือเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี ซึ่งการประเมินดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้

เนื่องผู้ประกอบการร้านอาหาร ยังต้องเจอโจทย์ท้าทาย จากที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เพียงแต่ผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้บริการต่อมื้อของผู้บริโภคก็จะมีการหดตัวอีกด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ

ขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจก็เพิ่มขึ้น จากต้นทุนแฝงที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้รองรับช่องทางการ สร้างรายได้เพิ่มเติม หรือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ทำความสะอาด เป็นต้น ผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นกับร้านอาหารเกือบทกุประเภทแต่มิติความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันตามมรูปแบบการให้บริการของ ร้านอาหาร

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ร้านอาหารเต็มรูปแบบ และร้านอาหารเปิดบริการจำกัดอยู่ในห้างฯและแห่งท่องเที่ยว รวมถึงสวนอาหารจะเป็นกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันด้านผลการดำเนินงานในปี 2563 มากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มอาจมีข้อจำกัดภายใต้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสัดส่วนรายได้มากกว่า 65% ของร้านอาหารในกลุ่มนี้เกิดจากการเข้ามาใช้บริการของผู้บริโภคในร้าน ส่งผลให้รายได้ดังกล่าวน่าจะยังมีการหดตัว ต่อเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยง หรือลดการทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์อีกระยะ

นอกจากนี้การผ่อนปรนที่มีการจำกัดระยะห่างระหว่างบุคคลและจำนวนผู้ใช้บริการต่อโต๊ะ รวมถึงการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านซึ่งเป็นสินค้าที่มีกำไรต่อหน่วยสูง เงื่อนไขดังกล่าวนอกจากทำให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างรายได้แล้ว ยังทำให้เกิดต้นทุนแฝงเพิ่มขึ้น จากทั้งค่าเสียโอกาสและความผันผวนของวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้อ

รวมทั้ง ร้านอาหารในกลุ่มนี้มีต้นทุนคงที่ สูงกว่าร้านอาหารประเภทอื่นๆ อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าดูแลรักษาสถานที่ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนนี้อาจมีสัดส่วนสูงถึง 30-40% ของรายได้ในร้านอาหารบางประเภท ขณะที่ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารริมทาง จะได้เปรียบด้านความคล่องมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกประเภทจำเป็นต้องเร่งปรับตัวสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจ (New Normal) ที่สอดรับไปกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป