หุ้นร้านอาหารอ่วมพิษ”โควิด” กำไรQ1ทรุด-คลายล็อกดาวน์ส่อไม่ฟื้น

โบรกฯ ลุ้นรัฐคลายล็อกดาวน์หนุนหุ้นร้านอาหารฟื้น ประเมินไตรมาสแรก “M-AU-ZEN-OISHI” เจ็บหนักอ่วมพิษ “โควิด-19” ผลกระทบปิดห้าง-ยอดขายดีลิเวอรี่ชดเชยยอดขายปกติไม่ได้ คาดฟื้นตัวเร็วสุดปีหน้า “บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” ระบุ หนุน “M” หุ้นเด่นสุดในกลุ่ม เหตุกลยุทธ์ปรับตัวชัด ชู “สุกี้หม้อเดี่ยว-ขายดีลิเวอรี่” ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” หวั่นหลังคลายล็อกดาวน์หุ้นร้านอาหารยังเจอดิสรัปต์หนักจากกระแสดีลิเวอรี่

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU) บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) และ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) โดยเฉพาะ M ที่ได้รับผลกระทบจากที่การขายผ่านดีลิเวอรี่ไม่สามารถทดแทนรายได้จากการขายผ่านสาขาปกติ อีกทั้ง M ยังเป็นบริษัทเดียวที่ตัดสินใจไม่ลดพนักงาน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทยังเท่าเดิมขณะที่รายได้ลดลง

“ต้องบอกว่าโมเมนตัมของหุ้นร้านอาหารในไตรมาสแรกไม่สดใสอยู่แล้ว ส่วนในช่วงไตรมาส 2 ก็โดนผลกระทบไปสักประมาณ 1 เดือนแล้วจากที่ปิดห้าง และตอนนี้ก็ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐว่าท้ายที่สุดแล้วมาตรการต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบไหน หากกลับไปเปิดได้อีกครั้งช่วงเดือน มิ.ย.ก็เท่ากับว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการปิดห้างไป 2 เดือน ก็ถือว่าเจ็บหนักอยู่พอสมควร ดังนั้น กำไรกลุ่มร้านอาหารน่าจะยังไม่ฟื้นกลับมาเร็ว ๆ นี้” นายวิจิตรกล่าว

อย่างไรก็ดี พบว่า M มีกลยุทธ์ปรับตัวที่ชัดเจนที่สุด โดยจะใช้โมเดลสุกี้หม้อเดี่ยว อาหารจานเดียว รวมถึงเดินหน้าขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่เต็มตัว และจะขยายให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมขายผ่านดีลิเวอรี่ใน 10 จังหวัดใหญ่เท่านั้น ดังนั้น แม้ถือเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการลดต้นทุนน้อยกว่ารายอื่น (ต้นทุนพนักงาน) แต่ถือว่ามีกลยุทธ์ปรับตัวได้ดี

ขณะที่ ZEN ยังไม่มีกลยุทธ์ปรับตัวที่ชัดเจนออกมา โดยปัจจุบันยังคงเน้นการขายแฟรนไชส์ร้าน “เขียง” ซึ่งเป็นสตรีตฟู้ดที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัท เนื่องจากมียอดขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม แบรนด์หลักอย่างร้าน”ZEN” ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นกลับอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวค่อนไปทางทรุดตัว ส่งผลให้ภาพการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน

ด้าน OISHI รายได้หลักของร้านอาหารมาจากร้าน “ชาบูชิ” ประมาณ 70% ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักพอสมควร จากความกังวลเรื่องการรับประทานอาหารร่วมกันในลักษณะบุฟเฟต์ แม้จะมีการรุกช่องทางการขายผ่านดีลิเวอรี่ แต่ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม รายได้ของเครื่องดื่มที่มีสัดส่วน 50% ของรายได้รวมที่เข้ามาช่วย ส่งผลให้ OISHI ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย

ส่วน AU มีจุดเด่นจากแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งสินค้าที่เป็นขนมค่อนข้างเอื้อต่อการซื้อกลับ (take away) และการซื้อผ่านดีลิเวอรี่โดย AU มีสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางดังกล่าวสูงถึง 18% หรือสูงที่สุดในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ลูกค้าต่างชาติที่หายไปราว 20% จึงส่งผลให้ AU ได้รับผลกระทบกลาง ๆ เมื่อเทียบกับร้านอาหารอื่น ๆ

“โมเดลประเทศจีนตอนที่ร้านอาหารกลับมาเปิด คือต้องเว้นระยะห่าง เช่น ตั้งโต๊ะให้ห่างมากขึ้น หรือหาอะไรมากั้น ซึ่งก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำกำไร ทำได้ไม่เหมือนเดิม โดยเราประเมินเบื้องต้นว่ากำไรของทั้ง 4 บริษัทน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วสุดในปีหน้า” นายวิจิตรกล่าว

ขณะที่กลยุทธ์การลงทุน นายวิจิตรกล่าวว่า การฟื้นตัวหลังโควิด-19 เชื่อว่ากลุ่มร้านอาหารจะทำได้ดีกว่ากลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมที่เน้นพึ่งพิงการบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาหุ้นอาจไม่สามารถดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19

โดยหุ้นเด่น (top pick) ที่สุดในกลุ่มคือ M เนื่องจากฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง แบรนด์มีความเข้มแข็งและมีการเตรียมกลยุทธ์ปรับตัวได้ดีด้วยกระแสเงินสดในมือค่อนข้างสูง ส่งผลให้ M มีโอกาสนำเงินไปลงทุนต่อยอดธุรกิจในอนาคต ซึ่งในปี 2562 บริษัทได้เข้าซื้อบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด ที่เป็นร้านอาหารที่มีโอกาสขยายสาขาได้อีกในอนาคต

“เรามองว่า M ยังสามารถเทรดดิ้งระยะสั้นได้ โดยย่อตั้งรับบริเวณ 48.00 และ 45.00 บาท ง่ายสุดคือรองบฯออกแล้วค่อยซื้อ เพราะต้องยอมรับว่างบฯไตรมาสแรกคงได้รับผลกระทบหนักพอสมควร และมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงรอบหนึ่ง” นายวิจิตรกล่าว

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัสกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์ลง คาดว่าจะส่งผลให้หุ้นในกลุ่มร้านอาหารค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวอาจไม่สามารถกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ขณะที่กำไรช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกำไรที่คาดว่าจะลดลงมีสาเหตุมาจาก 1.การปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2.กำไรจากการขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ไม่สามารถชดเชยยอดขายผ่านสาขาแบบปกติได้ เนื่องจากมีสัดส่วนเพียงไม่เกิน 5% ต่อยอดขายทั้งหมด และ 3.ค่าใช้จ่ายพนักงานที่ไม่สามารถลดได้ทันกับรายได้ที่หายไปในช่วงปิดห้างสรรพสินค้า

“คำแนะนำการลงทุนในหุ้นร้านอาหารที่เราวิเคราะห์ครอบคลุม ได้แก่ M และ AU เราแนะนำสับเปลี่ยน (switch) ทั้งคู่ เพราะแม้จะได้รับบรรยากาศเชิงบวก (sentiment) จากการเปิดห้างสรรพสินค้า แต่กลุ่มร้านอาหารในห้างยังเผชิญกับดิสรัปชั่นจากกระแสดีลิเวอรี่” นายภาสกรกล่าว