“สมคิด” สั่งอัพขนาดกองทุนอุ้มเอสเอ็มอีรายจิ๋วเป็น 1 แสนล้านบาท

“สมคิด” สั่ง “อุตตม” ตั้งกองทุนอุ้มเอสเอ็มอีขนาดจิ๋ว-เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนแบงก์ วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เร่งศึกษารูปแบบช่วยเหลือ-เงื่อนไข คาดมีกรอบชัดเจนก่อนสิ้นเดือนพ.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มรักษาการจ้างงาน เน้นกลุ่มท่องเที่ยวรายเล็ก-รวม 8 สายการบิน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจระยะกลางข้างหน้า ได้มีการประกาศกรอบนโยบายแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยมีการเสนอโครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น เพราะมีคนตกงาน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการนำเสนอผ่านการทำในรูปแบบ Area Based และ Agenda Based ว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เช่น สร้างแรงงานทุกหมู่บ้าน ดูแลเรื่องบัญชีการเงิน ซึ่งจะเห็นว่าสามารถสร้างให้เกิดการจ้างงานได้จำนวนมาก

“ตอนนี้มีคนเสนอโครงการมาหลายฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับโครงการนี้ต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกอย่างมีความโปร่งใส และให้เกิดผลงานตามที่ต้องการ เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”

นอกจากนี้ จะเห็นว่าโครงการหลายอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย และได้รับการแก้ไขไปค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ที่เข้าไม่ถึงระบบแบงกิ้ง จะต้องช่วยเหลือ โดยกระทรวงการคลังและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะดูโมเดลร่วมกับปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงมาตรการดูแลผู้ประกอบการที่รักษาดูแลการจ้างงานและพนักงานที่จะเร่งสรุปออกมาก่อนวันอังคารหน้า (19 พ.ค.63)

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการเสริมที่เป็นกลไกในลักษณะ ”กองทุน” วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินมาจากเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น วิสาหกจิชุมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงิน เนื่องจากไม่มีประวัติการกู้เงิน เพราะไม่เคยกู้มาก่อน และไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จะเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวมีมากพอสมควร ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งศึกษาผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีบันทึกในสถาบันการเงิน ดังนั้น เพื่อแยกให้ออกว่าใครเป็นใคร และรูปแบบการช่วยเหลือจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไร และกองทุนนี้จะดำเนินการโดยใคร ซึ่งเป็นการบ้านที่กำลังเร่งทำ เพื่อให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยคาดว่าน่าจะมีกรอบขั้นตอนชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้

อย่างไรก็ดี กองทุนดังกล่าว จะต้องไม่ซับซ้อนกับวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่จะเป็นการออกแบบให้สอดคล้องกัน โดยคนที่ใช้ซอฟต์โลนก็ไปใช้ซอฟต์โลนที่มี จะไม่ทับซ้อนกัน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคลังจะทำหน้าที่ในการดูแลภาพรวมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นอกจากนี้ จะมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการที่มีกลไกดูแลรักษาการจ้างงาน ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะเป็นในลักษณะการให้สินเชื่อหรือในรูปแบบอื่นๆ ในการรักษาการจ้างงานไว้ โดยกลุ่มที่จะเข้าโครงการนี้ส่วนหนึ่งจะเป็น 8 สายการบิน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดเล็ก เช่น โฮมสเตย์ เป็นต้น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการจ้างงานเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องดูว่ากลไกการดูแลเป็นเป็นลักษณะใด

“ตอนนี้รัฐบาลต้องการออกมาตรการมาดูแลผู้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือประชาชนทั้ง 3 ระบบหลักแล้ว ได้แก่ กลุ่มประกันสังคม 10 ล้านคน แรงงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ขณะนี้จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทไปแล้วกว่า 14 ล้านคน และรวมทั้งเกษตรกรที่จะเริ่มเยียวยาในวันที่ 15 พ.ค.นี้ อีกประมาณ 10 ล้านคน จึงสามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลกำลังดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว 35-36 ล้านคน จากแรงงานในประเทศทั้งหมด 38 ล้านคน โดยส่วนที่เหลือนอกจากนี้รัฐบาลก็จะพยายามดูแลให้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งกำลังเร่งทำการบ้านกลุ่มที่ไม่ครอบคลุมในกลุ่มนี้ ผ่านกลไกกองทุนช่วยเหลือคนตัวเ,กที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินในสถาบันการเงิน เพราะไม่เคยกู้มาก่อนทำให้ไม่มีประวัติการกู้มาก่อน คาดว่าจะสรุปในเร็ววัน”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายอุตตม ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุน เพื่อดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยที่ตกหล่นหรือยังเข้าไม่ถึงแหล่งกู้เงินจากสถานบันการเงินต่างๆ ขนาดกองทุนจะไม่เกิน 50,000 ล้านบาท จะเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่ไม่ใช่การให้สินเชื่อ