กรุงไทย ชี้ Q2 สำรองหนี้ฯ การบินไทยครบ 6 พันล้าน

แบงก์กรุงไทย เตรียมตั้งสำรองหนี้ฯ การบินไทยครบ 100% ในไตรมาสที่ 2 จากภาระหนี้ 6 พันล้านบาท ยันพร้อมปล่อยกู้เพิ่ม มองมีโอกาสเติบโตเป็นสายกรบินแห่งชาติ ส่วนผลการดำเนินงานปีนี้ จ่อทบทวนเป้าธุรกิจ ชี้ พักชำระหนี้ลูกค้า กดรายได้ดอกเบี้ยลด-ดอกเบี้ยจ่ายหลังชนฝา เชื่อระบบแบงก์กองทุนยังแกร่งรองรับหนี้เสียได้ 10-11% จากทั้งระบบปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7-9%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรณี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ธนาคารทยอยได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วบางส่วน จากวงเงินภาระหนี้ที่มีกับธนาคารอยู่กว่า 6,000 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาสที่ 2 น่าจะสามารถตั้งสำรองครบทั้ง 100% ส่วนหนึ่งวงเงินที่นำไปตั้งสำรองการบินไทยนั้นธนาคารได้มาจากการรับชำระหนี้จากบริษัทแห่งหนึ่งภายหลังจากศาลตัดสินให้ธนาคารชนะคดี ส่งผลผลให้ธนาคารมีเงินชดเชยนำมาช่วยในการตั้งสำรองการบินไทย

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้กับการบินไทย เนื่องจากมองว่า เป็นสายการบินแห่งชาติ และยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการขั้นตอนของแผนฟื้นฟูกิจการด้วย

“โอกาสให้สินเชื่อเพิ่มก็มี แต่ต้องดูแผนฟื้นฟูฯ ก่อน เพราะต้องทำอีกหลายกระบวนการ แต่เราก็อยากเห็นสายการบินแห่งชาติสามารถกลับมาการเติบโตแข็งแรงได้ ส่วนภาระหนี้หากดูตามงบการเงินของการบินไทย เราปล่อยกู้ไปประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งการก่อนหน้าในช่วงที่การบินไทยมีปัญหาทางการเงิน เราเริ่มทยอยตั้งสำรองไปบ้างแล้ว และคาดว่าในไตรมาสที่ 2 นี้น่าจะตั้งสำรองครอบคลุมหนี้ที่มีอยู่ครบ”

นายผยง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการทบทวนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ ยอมรับว่า ผลการดำเนินงานปรับลดลงจากปีก่อน ทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ และรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ และการลดดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รายได้ปรับลดลง เนื่องจากตั้งพักชำระหนี้ไว้ โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 3 แสนล้านบาท และธุรกิจรายใหญ่จำนวน 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี แนวทางการดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายหลังจากครบกำหนดพักชำระหนี้ ธนาคารมีการทบทวนแผนอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามประคองลูกค้าต่อไป แต่ทั้งนี้ จะเห็นว่าความแข็งแรงของธนาคารมีจุดสิ้นสุดตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7-9% ทั้งระบบ จากปัจจุบันอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับเอ็นพีแอลได้ระดับ 10-11%

“งบการเงินจะเห็นว่าอ่อนแอแน่นอน เพราะตอนนี้ทั้งระบบเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ประคองลูกค้า แม้ว่าแบงก์ชาติจะให้เวลาการจัดชั้นหนี้เป็นปกติภายในเวลา 2 ปี แต่ลูกค้าทุกคนไม่ใช่จะกลับมาได้ทั้งหมด ดังนั้น ตอนนี้ดอกเบี้ยรับลดลง ดอกเบี้ยจ่ายก็หลังชนฝา แต่เราก็ต้องช่วยประคองลูกค้าต่อไป ซึ่งห็หวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเร็วที่สุด หากทางการเริ่มเปิดเมืองและไม่เกิดระบาดรอบ 2 เราก็ทยอยตั้งสำรองกันต่อไป จากตอนนนี้มีเงินความพอเพียงเงินกองทุนอยู่ที่ 130%”