4 ปัจจัย Digital หนุน SMEs โตหลังโควิด (1)

อี-คอมเมิร์ซ
คอลัมน์ Smart SMEs
โดย TMB Analytics

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รัฐบาลรณรงค์ให้คนไทยอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และดำเนินชีวิตที่ระมัดระวัง

เนื่องจากความวิตกกังวลของผู้บริโภคจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ SMEs ที่มีการค้าขายและบริการกับผู้บริโภคโดยตรงถูกกระทบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดชั่วคราว ผลคือผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงล็อกดาวน์ ธุรกิจจำเป็นต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์และระดับเทคโนโลยีของผู้บริโภคให้มากที่สุด เช่น สำหรับผู้ค้าได้เพิ่มช่องทางออนไลน์เพื่อซื้อขายสินค้า ผู้ให้บริการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้ทำธุรกิจได้ เช่น ปรึกษาแพทย์แบบออนไลน์ ล้วนเป็นตัวอย่างของการนำเอา digital ecosystem มาใช้ในการตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคและลดปัญหาต่าง ๆ ของธุรกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics จึงได้สรุป 4 ปัจจัยใน digital ecosystem ของไทยที่พร้อมรองรับธุรกิจ SMEs หลังผ่านช่วงโควิด ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจในช่วงตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่วยธุรกิจให้ก้าวต่อไปในอนาคต ได้แก่

1) e-Channel การเข้าถึงตลาดออนไลน์ที่เป็น e-Marketplace หรือ social network เช่น Lazada, Shopee, Tarad.com, Facebook, Line, Agoda, ฯลฯ ผู้บริโภคจำนวนมากที่เคยอยู่ตามตลาดห้างร้านต่าง ๆ ได้กระโดดเข้าไปอยู่ในตลาด e-Commerce ที่ไร้ข้อจำกัดด้านขนาดและสถานที่ โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เผยสถิติการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง e-Marketplace พบว่า ในปี 2562 มูลค่าตลาด e-Commerce มีการเติบโตสูงขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน โดยมีมูลค่ามากถึง 163,300 ล้านบาท

และจากข้อมูลของ Priceza ในการแถลงข่าว Priceza Virtual Conference พบว่า ในช่วงที่มีการระบาดนั้น (มีนาคม-เมษายน 2563) ยอดขายออนไลน์ในธุรกิจสุขภาพ ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนก่อนการระบาด หรือแม้แต่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แม้ว่าแนวโน้มของภาวะตลาดจะหดตัวตามกำลังซื้อ แต่กลับมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 22% นอกจากนี้ ในช่วงปี 2561-2562 ที่ผ่านมา SMEs ที่ทำ e-Commerce มีโอกาสไปต่อถึง 92% และมีเพียง 8% เท่านั้นที่เลิกกิจการ ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการอยู่รอด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวเข้าสู่การขายออนไลน์มากขึ้น

4 ปัจจัย Digital หนุน SMEs

2) e-Payment การเข้าถึงระบบอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน ได้แก่ internet banking, mobile banking, e-Wallet, QR code จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การใช้ e-Payment ของคนไทยเพิ่มขึ้น 114% ในช่วงปี 2560-2562 จากการทำธุรกรรม internet banking และ mobile banking ที่มีการเติบโต 276% และในช่วงการแพร่ระบาดในเดือนเมษายนทำให้มีการใช้ e-Payment ถึง 151 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2559 และปัจจุบันธุรกิจ ร้านค้า และภาครัฐต่าง ๆ มีจุดบริการกว่า 6 ล้านจุดทั่วประเทศ พฤติกรรมความคุ้นชินในการใช้ e-Payment เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา

3) logistics การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมในธุรกิจรับ-ส่งสินค้า ซึ่งช่วยส่งสินค้าให้ถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ เช่น ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, DHL, LINE Man, Grab Food, Foodpanda ฯลฯ กลายเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ในธุรกิจ e-Commerce และส่งเสริมให้ผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้นด้วยทั้งผ่านร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าทั่วไป จากข้อมูลไปรษณีย์ไทยได้เผยสถิติการส่งสิ่งของผ่านเส้นทางไปรษณีย์ไทยว่าในปี 2563 มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 60% จากปีก่อนที่มีสิ่งของฝากส่งวันละ 8 ล้านชิ้น จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทั้งตัวธุรกิจและผู้บริโภคมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

4) management & analytics tool การจัดการระบบการวิเคราะห์และบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสุดท้ายที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน หมายถึง การนำข้อมูลจากธุรกิจเองหรือจาก e-Channel หรือผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น Google Analytics, Facebook Insights มาใช้วางแผนการตลาด และพัฒนาสินค้าและบริการ เพราะการที่เจ้าของธุรกิจไม่ทราบว่ามีคนเข้าเว็บไซต์/เพจวันละกี่คน และเข้ามาทำอะไรบ้าง ก็เปรียบเหมือนการเปิดร้านอาหารแต่ไม่รู้ว่ามีลูกค้าเข้าร้านกี่คน และสั่งอะไรบ้าง การต่อยอดทางธุรกิจต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ จึงมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจสามารถวางแผนได้สอดคล้องกับภาวะตลาดมากขึ้น

หากไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ กลยุทธ์ที่ได้ก็จะไม่ต่างจากการเดาหรือการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจ